นักโบราณคดีพบวัตถุโบราณจำนวนมาก ใต้ทะเลสาบติติกากา คาดเป็นเครื่องบูชาในอดีต

เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อของทะเลสาบ “ติติกากา” กันมาบ้าง มันเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาแอนดีส แถบชายแดนของประเทศเปรูและประเทศโบลิเวีย

ที่ผ่านๆ มาทะเลสาบติติกากา ถูกใช้งานทั้งในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวและเส้นทางการเดินเรือเชิงพาณิชย์ จนกลายเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ว่าแต่เชื่อหรือไม่ว่าใต้ทะเลสาบชื่อดังแห่งนี้ ยังมีสมบัติโบราณซ่อนอยู่อีกด้วย

 

 

นั่นเพราะเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้เอง ทีมนักสำรวจใต้น้ำ ซึ่งนำทีมโดยนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต ก็ได้มีการออกมาตีพิมพ์การค้นพบวัตถุโบราณของชนพื้นเมืองในวัฒนธรรมติวานากูจำนวนมากใต้ผืนน้ำของทะเลสาบที่กว้างใหญ่นี้

โดยวัตถุโบราณที่มีการค้นพบในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย รูปสลักเสือพูมาที่ทำจากลาพิส ลาซูลี่อัญมณีสีน้ำเงินที่หาได้ยากในอดีต เหรียญทอง จี้หินเทอร์ควอยซ์ และสมบัติมีค่าอื่นๆ ที่ทำจากทองอีกมากมาย

 

 

อ้างอิงจากทีมนักค้นหา ในบริเวณใกล้เคียงกับวัตถุโบราณที่พวกเขาพบ ยังมีกระดูกของสัตว์อย่างลามะ และปลาที่น่าจะถูกสังหารโดยคนในสมัยก่อนอยู่ด้วย และเมื่อทำการตรวจสอบอายุคาร์บอนกัมมันตรังสี พวกเขาก็พบว่ากระดูกที่พบและโบราณวัตถุอื่นๆ น่าจะถูกนำมาทิ้งไปที่นี่ ตั้งแต่เมื่อช่วงปี ค.ศ. 794-964

เป็นไปได้ว่าในสมัยก่อนโบราณวัตถุเหล่านี้ถูกนำมาถวายที่เกาะหินขนาดเล็กซึ่งโผล่ขึ้นมากลางทะเลสาบ อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปเกาะดังกล่าวก็จมลงจู่ใต้น้ำไป พร้อมๆ กับวัตถุโบราณที่ชนพื้นเมืองนำมาถวายไว้

 

 

และแม้ว่าการค้นพบครั้งนี้จะดูเป็นการค้นพบที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ก็ตาม แต่มันไม่ใช่การค้นพบวัตถุโบราณครั้งแรกในทะเลสาบแห่งนี้แต่อย่างไร เพราะในช่วงปี 1988-1992 เองทีมนักโบราณคดีก็เคยมีการค้นพบวัตถุโบราณในที่แห่งนี้มาแล้วถึง 385 ชิ้น แถมยังมีส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมอินคาด้วย

การค้นพบเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของทะเลสาบติติกากาในสายตาของคนในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี แถมในปัจจุบันเองชนเผ่าพื้นเมืองบางส่วนอย่างชาวไอย์มาราแห่งเทือกเขาแอนดีสเองก็ยังคงมีความเชื่อว่าทะเลสาบแห่งนี้มี “พลังลึกลับ” แฝงเอาไว้อยู่ แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาเป็นพันปีแล้วก็ตาม

 

 

ที่มา livescience และ theguardian

Comments

Leave a Reply