นักวิทย์พบ กบฟักทองในบราซิล มีกระดูกเรืองแสงทะลุผิวหนังได้ เมื่อส่องด้วยแสง UV

ลึกเข้าไปในป่าแอตแลนติก ทางตะวันออกของประเทศบราซิล ทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายสถาบันการศึกษานานาชาติได้เข้าไปทำการสำรวจการใช้ชีวิตของกบฟักทอง (Pumpkin Toadlets) กบพิษที่มีจุดเด่นอยู่ที่สีเหลืองอมส้มเพื่อข่มขวัญนักล่าอื่นๆ

ที่นั่นพวกเขาได้บังเอิญใช้ไฟฉาย UV ส่องไปยังกบฟักทองสองสายพันธุ์ (Brachycephalus ephippium กับ Brachycephalus pitanga) และพบว่า กบเหล่านี้จริงๆ แล้วไม่ได้มีจุดเด่นที่สีของมันเท่านั้น แต่พวกมันยังมีกระดูกที่เรืองแสงสีฟ้าทะลุผิวหนังออกมาได้ด้วย

 

 

โดยแสงที่ออกมานี้เป็นการเรืองแสงแบบที่เรียกกันว่า “การวาวแสง” หรือ “Fluorescence” ซึ่งต่างไปจากการเรืองแสงแบบปกติตรงที่มันจะมองไม่เป็นในที่มืดธรรมดา แต่เป็นการที่โมเลกุลบางชนิดดูดซับแสงไว้และปล่อยออกมาโดยมีความยาวคลื่นมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ในภาวะพิเศษอย่างการได้รับแสง UV แทน

ตามปกติแล้วการการวาวแสงในรูปแบบนี้มักจะไม่ค่อยพบในสัตว์ที่อาศัยบนบกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง แถมตามปกติสีที่แสดงออกมายังมักเป็นสีแดงหรือเขียวด้วย ดังนั้นการค้นพบในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการค้นพบที่ค่อนข้างแปลกเลย

 

 

ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจฟันธงได้ว่าทำไมกบทั้งสองสายพันธุ์จึงมีการการวาวแสงแบบนี้ แต่พวกเขาก็ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่านี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งในลักษณะการวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นเพื่อขู่นักล่าเนื่องจากนกและแมงมุมบางชนิดจะสามารถมองเห็นการวาวแสงได้

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกบเหล่านี้คือพวกมันการวาวแสงเพื่อสื่อสารกันเองแบบลับๆ เนื่องจากพวกมันไม่มีหูชั้นกลางและไม่สามารถได้ยินเสียงร้องของตัวเองได้ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการการวาวแสงนี้เกิดขึ้นเพื่อหาคู่ในการผสมพันธุ์

 

 

อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานชิ้นหลังนี้จะเป็นจริงได้ในกรณีที่กบสองชนิดนี้สามารถมองเห็นการการวาวแสงแบบนี้ได้เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถบอกได้เช่นกันว่าพวกมันมีความสามารถนี้ไหม

การค้นพบสุดแปลกนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ในวารสาร Scientific Reports ส่วนทางทีมวิจัยเองในปัจจุบันก็ได้ทำการเตรียมการตรวจสอบกบทั้งสองสายพันธุ์ต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะหาคำตอบว่าการการวาวแสงเหล่านี้ แท้จริงแล้วเกิดขึ้นเพื่ออะไรกันแน่ต่อไป

 

 

ที่มา mongabay, nature และ livescience

Comments

Leave a Reply