นักโบราณคดีพบ “ไหใส่ไข่” ในสุสานที่ประเทศจีน คาดมาจากยุคชุนชิว และมีอายุราว 2,500 ปี

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาสำนักข่าวประเทศจีนได้ออกมารายงานการค้นพบไหขนาดใหญ่ในสุสานเก่าแก่ในแหล่งโบราณคดีที่เมือง Shangxing ทางตะวันออกของประเทศจีน โดยไหที่พบนี้เชื่อกันว่ามีอายุราวๆ 2,500 ปี และภายในบรรจุไข่ราวๆ 20 ฟองเอาไว้

 

 

นี่เป็นการค้นพบที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างนักโบราณคดีจากสถาบันโบราณคดีนานกิงและพิพิธภัณฑ์ลี่หยาง ผู้ซึ่งได้ทำการเข้าสำรวจสุสาน 6 ชั้นจากยุคชุนชิว (770-453 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และพบไหประหลาดนี้อยู่ในสุสานชั้นที่ห้า

อ้างอิงจากทีมนักสำรวจ ไหขนาดใหญ่อันนี้ถูกพบในดินโคลนในสภาพที่มีฝาปิด พร้อมๆ กับอุปกรณ์ทำครัวอื่นๆ เช่นถ้วย หม้อ จาน ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าเจ้าของสุสานนี้น่าจะมีฐานะในระดับหนึ่ง

 

 

น่าเสียดายที่เนื้อในของไข่นั้นส่วนมากได้ถูกย่อยสลายไปตามกาลเวลาแล้ว เหลือไว้เพียงเปลือกที่เป็นแคลเซียมเท่านั้น ทำให้การตรวจสอบไข่ที่พบจำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวังมาก เพราะเพียงแค่การสัมผัสไข่เบาๆ ก็อาจจะทำให้เปลือกไข่แตกได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในการค้นพบเมื่อปี 2015 ที่มณฑลกุ้ยโจว

คุณ Lin Liugen จากสถาบันโบราณคดีนานกิงกล่าวว่าการที่ไข่มาอยู่ในสุสานได้นั้นอาจมีเหตุผลได้หลากหลาย ทั้งเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่าไข่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ หรือแนวคิดที่ว่าการฝังอาหารไว้กับผู้ที่จากไปจะทำให้พวกเขาไม่ต้องทนหิวในโลกหลังความตาย

 

 

แน่นอนว่านี่อาจจะไม่ใช่การค้นพบไข่ในสุสานเป็นครั้งแรกของประเทศจีนก็จริงอยู่ แต่การค้นพบไข่ที่มีสภาพสมบูรณ์พร้อมๆ กันเป็นจำนวนมากเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ เช่นกัน ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงได้วางแผนที่จะนำไข่เหล่านี้ไปทำการทดสอบกันต่อไป

 

ที่มา dailymail, xinhuanet และ ancient-origins

Comments

Leave a Reply