กรณีศึกษาแห่งเคนยา เมื่อการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมนำมาซึ่งเหตุนองเลือด และความตาย

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1991 ประเทศเคนยาได้พบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของระบบการบริหารบ้านเมือง เมื่อพรรคสหภาพแห่งชาติเคนยา (Kenya National Union Party) หรือ KANU ซึ่งปกครองประเทศแต่เพียงผู้เดียวมาตั้งแต่ปี 1982 ได้ออกมาประกาศการเลือกตั้งแบบระบบหลายพรรคเป็นครั้งแรก

 

 

ในเวลานั้นประชาชนรู้สึกมีความหวังกันมาก เพราะนี่หมายความว่าในที่สุดประชาชนก็จะได้มีสิทธิ์เลือกประธานาธิบดี และก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ส่วนทางพรรค KANU เองถึงจะต้องพบกับความท้าทายอยู่บ้างแต่ก็ยังคงสามารถชนะการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในปี 1992 และกุมอำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งไว้ได้อีกเกือบๆ 10 ปี

แต่แล้วในปี 2002 เมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งในเคนยาก็ถูกหว่านลงไปโดยที่ไม่มีใครรู้ตัว เมื่อนาย Daniel arap Moi จากพรรค KANU แพ้การเลือกตั้งให้แก่นาย Mwai Kibaki จากพรรคพันธมิตรสายรุ้งแห่งชาติ (National Rainbow Coalition หรือ NARC) และประเทศเคนยาก็ได้ประธานาธิบดีที่ไม่ใช่ของพรรค KANU จนได้

 

นาย Mwai Kibaki ประธานาธิบดีคนที่สามของเคนยา

 

ปัญหาคือในระหว่างการบริหารประเทศนาย Kibaki กลับถูกมองว่าทำหน้าที่บริหารได้ไม่ดีในหลายๆ เรื่อง จนทำให้นาย Raila Amolo Odinga ที่เคยที่เคยช่วยเหลือเขาบริหารประเทศ กลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญในการเลือกตั้งเมื่อปี 2007 ไป และก็เป็นในปีนั้นเอง ที่ชาวเคนยาต้องพบกับเหตุนองเลือดที่มาจากการเลือกตั้ง

 

นาย Raila Amolo Odinga  อดีตนายกรัฐมนตรีของเคนยา

 

นั่นเพราะวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2007 ผลการเลือกตั้งออกมาว่านาย Kibaki เฉือนเอาชนะนาย Odinga ไปได้อย่างหวุดหวิด และขึ้นรับตำแหน่งในทันทีโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้นาย Odinga ได้ร้องเรียนผลการเลือกตั้ง ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชน

 

 

เท่านั้นยังไม่พอเพราะ ในเวลาต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งของเคนยาก็ยังออกมาบอกว่าตนเองนั้นถูกทางภาครัฐบังคับให้รีบประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวถูกมองเป็นการทุจริตในสายตาของหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในบางพื้นที่มีผลคะแนนเสียงออกมาถึง 115% ของผู้ใช้สิทธิ์จริงๆ

เมื่อความไม่พอใจสั่งสมขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดประชาชนที่สนับสนุนทั้งสองฝั่ง (ซึ่งก็อยู่ในภาวะตึงเครียดกันอยู่แล้ว) ก็เริ่มออกมาเข่นฆ่ากันในเวลาต่อมา จนทำให้การเลือกตั้งในครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 1,500 คน

 

 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนั้นนับว่า ทิ้งบาดแผลไว้ให้ชาวเคนยามากเลยทีเดียว และแม้ว่าประเทศจะกลับมาอยู่ในภาวะคงตัวได้พักหนึ่ง แต่ในวงการการเมืองของประเทศ ทางรัฐบาลก็ไม่เคยได้รับความไว้วางใจอีกเลย

และแล้วเมื่อเวลาผ่านไปราวๆ 10 ปี ในปี 2017 เคนยาก็ต้องพบกับปัญหากับการเลือกตั้งอีกครั้ง เมื่อนาย Odinga ได้ออกมาอ้างว่ารัฐบาลของนาย Uhuru Kenyatta ที่ในเวลานั้นเป็นประธานาธิบดีและลงสมัครเลือกตั้ง มีการดำเนินงานที่ไม่เป็นธรรม

 

 

โดยเขาอ้างว่า รัฐบาลได้พยายามขัดขวางการลงคะแนนในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของพรรคฝ่ายค้านอย่างน้อย 4 เมือง และมีการกดดันประชาชนจนทำให้เขาต้องพ่ายแพ้อีกครั้ง ทำให้ประชาชนผู้ที่สนับสนุนเขาเริ่มมีการออกมาชุมนุมประท้วงในท้องถนน

แน่นอนว่าด้วยความที่เคนยาเคยมีประวัติไม่ดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งอยู่แล้ว ความขัดแย้งในครั้งนี้จึงกลายเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก

และเมื่อที่เริ่มมีคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางศาลสูงสุดก็ตัดสินใจให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นโมฆะไป ก่อนที่จะประกาศจัดการเลือกตั้งรอบใหม่ เนื่องจากมีการทุจริตเกิดขึ้นจริงๆ

 

 

การออกมาประกาศครั้งนั้นทำให้หลายๆ ฝ่ายรู้สึกมีความหวังขึ้นมาก เพราะการที่ศาลออกมาบอกว่าการเลือกตั้งมีการทุจริตจริงๆ และประกาศเลือกตั้งซ่อม ตามปกติแล้วก็น่าจะหมายความว่าผู้ทุจริตไม่น่าจะได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อ แม้จะมีกลุ่มผู้ไม่พอใจอยู่บ้างก็ตาม

แต่แล้วในเวลาสองเดือนต่อมา ศาลแห่งเดียวกันกลับออกมาประกาศว่านาย Uhuru Kenyatta ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเสียอย่างนั้น ท่ามกลางข่าวลือที่ว่าทางรัฐบาลใช้อำนาจของตัวเองในการข่มขู่ศาล จนทำให้เกิดเหตุประท้วงนองเลือดไปทั่วประเทศอีกครั้ง

 

 

และแม้เวลาจะผ่านไปเป็นปีแล้วก็ตาม แต่บาดแผลในครั้งนี้เอง ก็ยังคงหลงเหลืออยู่แม้ในปัจจุบัน

 

ที่มา theconversation, theguardian, upi, thaiworld, aljazeera และ hrw

Comments

Leave a Reply