งานวิจัยพบ “หนอนริบบิ้น” บางสายพันธุ์งอกหัวออกมาใหม่ได้ แม้สมองถูกทำลายไปแล้ว

เพื่อนๆ เคยได้ยินเรื่องราวของหนอนทะเลที่ชื่อ “หนอนริบบิ้น” กันมาก่อนไหม สำหรับหลายคนแล้ว ชื่อของเจ้าหนอนตัวนี้อาจจะเป็นอะไรที่ไม่คุ้นหูเอาเสียเลย ในขณะที่บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงของมันในฐานะหนอนประหลาดที่พ่นใยสีขาวได้

ว่าแต่เชื่อหรือไม่ว่าเจ้าหนอนริบบิ้นนั้นไม่ได้มีความสามารถแค่พ่นใยสีขาวเท่านั้น เพราะจากงานวิจัยใหม่ล่าสุด เจ้าหนอนในตระกูลนี้ บางสายพันธุ์สามารถงอกสมองใหม่ได้ด้วย

 

 

เอาเข้าจริงๆ เรื่องของสมองในสัตว์จำพวกหนอนหรือไส้เดือนนั้นเป็นอะไรที่แปลกอยู่แล้วเพราะพวกมันมีทั้งสายพันธุ์ที่ไม่มีสมอง สายพันธุ์ที่ใช้เส้นประสาทต่างสมอง หรือแม้กระทั่งสายพันธุ์ที่มีสมองคล้ายกับมนุษย์

แต่จากการทดลองที่ผ่านๆ มา นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่ามีแค่หนอนริบบิ้นบางสายพันธุ์เท่านั้นที่งอกสมองออกมาใหม่ได้เมื่อหัวถูกทำลายไป

อ้างอิงจากรายงานที่ถูกตีพิมพ์ออกมาในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2019 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทดลองกับหนอนริบบิ้นจำนวน 22 สายพันธุ์ (และเทียบข้อมูลกับอีก 13 สายพันธุ์) ทุกๆ ตัวจะสามารถซ่อมแซมหางตัวเองได้ แต่ที่แปลกคือในบรรดาหนอนเหล่านั้นกลับมีถึง 5 สายพันธุ์ที่งอกหัวออกมาใหม่พร้อมกับสมองได้

อันที่จริงแล้วนักวิทยาศาสตร์พอจะเดาได้อยู่แล้วว่าในบรรดาหนอนริบบิ้นที่ได้มาจะมีอย่างน้อยๆ หนึ่งชนิดที่งอกสมองใหม่ได้ (เพราะก่อนหน้านี้เคยมีผลการทดลองยืนยันอยู่) แต่พวกเขาก็ไม่คิดเลยว่าจะมีหนอนงอกหัวใหม่ได้มากถึง 5 ชนิดเช่นนี้

 

การงอกหัวและสมองใหม่ของหนอนริบบิ้น Lineus sanguineus หนึ่งในห้าหนอนที่งอกหัวใหม่ได้สำเร็จ

 

นี่นับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกเพราะหนอนที่ถูกนำมาทดลองนั้น ล้วนแต่มีบรรพบุรุษเดียวกันทั้งสิ้น และแน่นอนว่าบรรพบุรุษดังกล่าวก็ไม่ได้มีความสามารถในการงอกหัวเลยด้วย

นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์มองว่าความสามารถสุดแปลกนี้น่าจะเพิ่งพัฒนาขึ้นมาในช่วง 10-15 ล้านปีก่อนเท่านั้น ไม่ได้มีมานานมาแล้วอย่างที่งานวิจัยอื่นๆ เคยคาดไว้ และไม่แน่ว่าความสามารถงอกแขนขาใหม่ของสัตว์อื่นๆ ที่เราคิดว่ามีมาแต่โบราณเอง แท้จริงแล้วก็อาจจะเพิ่งมาวิวัฒนการเอาช่วงหลังๆ เช่นกันก็เป็นได้

 

 

น่าเสียดายที่คนเรานั้นไม่ได้มีความสามารถในการงอกอวัยวะออกมาใหม่เช่นเดียวกับสัตว์เหล่านั้น และคงต้องใช้เวลาอีกนานเลยกว่าที่เทคโนโลยีของมนุษย์จะดีพอที่จะทำให้พวกเรารักษาสมองได้ ดังเช่นที่เห็นกันบ่อยๆ ในภาพยนตร์

 

ที่มา bgrnewatlasnature และ livescience

Comments

Leave a Reply