ไขปริศนา เหล่าสัตว์รู้จักปู่ย่าตายายของตัวเองหรือไม่ นักสัตววิทยาบอก “บางชนิดทราบ”

เป็นเรื่องที่ทราบกันว่าระบบพ่อแม่ลูกนั้นไม่ได้มีการใช้งานแค่เพียงในหมู่มนุษย์เท่านั้น เพราะในบรรดาเหล่าสัตว์โลกอื่นๆ หลายชนิดเราก็สามารถเห็นภาพพ่อแม่ดูแลลูกๆ ของตัวเอง หรือลูกๆ เดินตามพ่อแม่ได้เช่นกัน

ว่าแต่เคยสงสัยกันไหมว่าสัตว์อื่นๆ นอกจากมนุษย์จะมีระบบครอบครัวที่ซับซ้อนเพียงไหน พวกมันมีระบบปู่ย่าตายายหรือไม่ ในวันนี้เราจะมาไขปริศนาข้อนี้กัน

 

 

น่าเสียดายที่คงต้องบอกว่าสำหรับสัตว์ส่วนมากแล้ว คำตอบของคำถามนี้คงจะเป็นคำว่า “ไม่” เพราะอายุขัยของพวกมันนั้นไม่ได้มากพอที่จะทำให้มันพบกับญาติรุ่นปู่ย่าตายายได้ แถมในสัตว์อีกหลายๆ ชนิดพวกมันยังมักออกเดินทางจากถิ่นกำเนิดเพื่อป้องกันการแย่งอาหารอีกทำให้โอกาสที่สัตว์จะเจอญาติรุ่นปู่ย่าตายายเป็นเรื่องที่น้อยมากๆ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าสัตว์อื่นๆ นอกจากมนุษย์จะไม่รู้จักปู่ย่าตายายของตัวเองเลย เพราะอ้างอิงจากหนังสือ “The Social Behavior of Older Animals” ของนักสัตววิทยาชาวแคนาดาชื่อ Anne Innis Dagg เธอได้พบว่าสัตว์ในตระกูลลิงนั้น อาจจะมีระบบปู่ย่าตายายคล้ายกับคนก็เป็นได้

นั่นเพราะในระหว่างการสังเกตุการณ์ค่างในอินเดียของเธอ Anne ก็พบว่าค่างเพศเมียที่มีอายุมากแล้ว มักจะอาศัยอยู่กับค่างทั้งที่เป็นรุ่นลูกและรุ่นหลานของตัวเอง

 

 

ค่างที่อายุมากมักจะทำหน้าที่ปกป้องเด็กๆ ในฝูงจากอันตรายรอบข้าง แถมจากรายงานของ Anne เธอยังพบว่าค่างบางตัวจะมีพฤติกรรมดูแลหลานๆ ของตัวเองดีกว่าเด็กๆ ตัวอื่นในฝูงด้วย

นอกจากค่างแล้วสัตว์อื่นๆ ที่เราคาดกันว่ามีระบบปู่ย่าตายายก็ได้แก่วาฬบางชนิด ซึ่งตัวเมียที่ชราแล้วจะรับหน้าที่ดูแลหลานๆ ในระหว่างวาฬที่เป็นแม่ออกหาอาหาร และช้างซึ่งเหล่าผู้อาวุโสและคอยสอนโขลงของตัวเองด้วยประสบการณ์ที่เรียนรู้มาทั้งชีวิต

 

 

แม้เราจะไม่อาจฟันธงได้ว่าช้างอาวุโสใช้วิธีไหนในการส่งต่อความรู้ของตัวเอง แต่จากการศึกษาเมื่อปี 2016 เราก็ยืนยันได้ว่าช้างรุ่นปู่ย่าตายายจะให้เวลาอยู่กับหลานๆ อย่างมีนัยยะสำคัญจริงๆ

แต่สัตว์เลี้ยงรู้ด้วยนมเองก็ไม่ใช่สัตว์เพียงประเภทเดียวที่มีระบบปู่ย่าตายายเช่นกันเพราะในปี 2010 เราก็เคยพบหลักฐานสัตว์อาวุโสปกป้องหลานๆ ในแมลงจำพวกเพลี้ยอ่อน และในปี 2007 เราก็มีรายงานว่านกรุ่นปู่ย่าตายายช่วยลูกๆ ดูแลหลานๆ เช่นกัน

 

 

เรื่องที่น่าสนใจของรายงานเหล่านี้คือส่วนมากแล้วสัตว์อาวุโสที่ดูแลหลานๆ นั้น ล้วนแต่เป็นเพศเมียทั้งสิ้น และไม่มีหลักฐานของสัตว์อาวุโสเพศผู้ดูแลหลานๆ เลย

Mirkka Lahdenperä นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยตุรกุในประเทศฟินแลนด์บอกว่า เป็นไปได้ว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะตามสัญชาตญาณแล้วสัตว์เพศผู้มักจะมีหน้าที่ผสมพันธุ์ให้ได้มากที่สุด ทำให้หน้าที่การเลี้ยงดูลูกที่เกิดมามักจะเป็นของตัวเมียนั่นเอง

 

ที่มา livesciencequoranature และ cell

Comments

Leave a Reply