เปิดภาพวาด ‘คณิตศาสตร์ทางดนตรี’ การถ่ายทอดความสุนทรีย์ของ John Coltrane

ปกติแล้วในการฟังเพลงนั้น เรามักใช้ประสาทสัมผัสการฟังคือหูเพื่อดื่มด่ำกับศาสตร์ทางดนตรีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงตัวโน้ต เครื่องดนตรี รวมไปถึงเนื้อเพลง

อ่านดูแล้วอาจเป็นการยากถ้าจะนำศาสตร์ทางดนตรีมาผสมรวมกับศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะศาสตร์ทางด้านตัวเลขหรือคณิตศาสตร์

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า John Coltrane สามารถนำสองศาสตร์นี้มาผสมรวมกันได้อย่างลงตัว

 

 

John Coltrane คือนักแซกโซโฟน นักแต่งเพลง และหัวหน้าวงดนตรีแจ๊สชาวอเมริกัน ผู้ผุดไอเดียการนำดนตรี คณิตศาสตร์ และเรขาคณิตเข้าด้วยกัน ทั้งๆ ที่มันไม่น่าจะเป็นสิ่งที่มาบรรจบพบกันได้

ไอเดียนี้เชื่อว่าเกิดขึ้นในขณะที่จอห์นกำลังร่ำเรียนแนวเพลงอินเดียอย่างลึกซึ้งพร้อมกับศึกษาทฤษฏีบางอย่างของอัลเบิร์ต ไอสไตน์ และนั่นทำให้เกิด “วงกลม” (The Circle) ขึ้นจากการฟังผลงานเพลงของตัวเอง

 

 

รูปภาพของเขาได้เปิดเผยสู่เพื่อนๆ และอาจารย์ของจอห์นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 ภายใต้ชื่อว่า “The Coltrane Circle” หรือ “Coltrane’s Circle of Tones”

ผลงานนั้นประกอบไปด้วย วงกลมของลำดับที่ 5 (The Circle of Fifths) ซึ่งจากทฤษฎีทางดนตรีนั้นคือวงกลมที่ประกอบไปด้วยตัวโน้ต สัญลักษณ์ทางดนตรี และระดับเสียงต่างๆ ที่ผู้เรียนศาสตร์ทางด้านดนตรีจะเข้าใจดี

 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคคลทั่วไปก็สามารถรับรู้ความสวยงามของวงกลมนี้ได้เช่นกันจากความน่าฉงนสนเท่ห์ระหว่างศาสตร์ทางดนตรีและคณิตศาสตร์

ครั้งนึงจอห์นเคยแสดงความคิดของเขาไว้ว่า “ดนตรีคือหัวใจในการแสดงออกของมนุษย์ คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ประสบการณ์ทุกสิ่งอย่างรอบตัวมนุษย์ ณ ขณะนั้นต่างถูกแสดงออกผ่านทางดนตรีทั้งสิ้น” 

 

ภาพร่างใหม่โดย Howard Penner

 

เขาต้องการเปิดเผยตัวตนโดยยึดหลักปรัชญา จิตวิญญาณ และวิทยาศาสตร์โดยนำเสนอผ่านทางความหลงใหลในสามสิ่งนี้เข้าด้วยกัน

ผลงานอันสุนทรีย์ของเขาได้ทิ้งให้นักดนตรีสมัยใหม่ตีความได้แตกต่างกันไป ในทั้งแง่ของความสวยงามพิศวง รวมไปถึงความลึกลับของมัน แม้ว่าเขาจะไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้แล้วก็ตาม

 

ที่มา: OpenCulture, FaenaAleph, OpenCulture

Comments

Leave a Reply