วิเคราะห์กระแส “Momo Challenge” เป็นเกมฆ่าตัวตายจริง หรือเป็นเพียงเรื่องจ้อจี้บนอินเตอร์เน็ต

กระแสความหวั่นวิตกต่อ Momo Challenge ดูจะขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดเท่าไหร่ คนรุ่นใหม่ก็อาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระมากๆ แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่มีลูกเต้าแล้วอาจจะคิดว่ากลัวไว้ก่อนก็ดีกว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ

ทีนี้เรามาดูกันว่าเจ้า Momo Challenge นี้มันมีหลักฐานการโผล่หน้ามาทักทายเด็กๆ แบบจังๆ เป็นชิ้นเป็นอันบ้างไหม

 

 

เท่าที่ #เหมียวม่วง ลองค้นดู ในส่วนของ WhatsApp นั้นก็ยังพอมีหน้าจอแชตให้เห็นอยู่บ้าง แต่ถ้าคิดอีกแง่ เบอร์โทรหรือแอคเคานต์ที่ใช้ในแอปนั้นใครก็สามารถทำออกมาเพื่อกลั่นแกล้งให้กลัวได้ หรือแม้แต่ตัดต่อเอาก็เป็นไปได้สูงเช่นกัน (เอาจริงไม่ต้องมีข้อความอะไร แค่หน้าตาก็สะพรึงพอแล้ว)

ทีแรกอาจจะแค่เป็นการแกล้งส่งรูปให้ตกใจกลัว แต่อาจมีคนนำรูปไปแต่งเติมกับเรื่องราวน่ากลัวหรือสวมรอยเอาไปเล่นแผลงๆ ก็เป็นได้

 

 

ส่วนที่ทำให้เหล่าผู้ปกครองกังวลมากๆ ก็คือเมื่อมีข่าวลือออกมาว่าเจ้า Momo นี้ได้แทรกซึมเข้าไปใน Youtube Kids ทั้งที่เป็นส่วนที่กรองเนื้อหาให้เหมาะกับเด็กแล้ว บ้างก็ว่ามีการสอดไส้คลิปเอาไว้ในการ์ตูนสำหรับเด็ก แต่ทาง Youtube เองกลับไม่เคยได้รับการร้องเรียนและไม่มีหลักฐานใดๆ ส่งเข้ามาเลย

ในขณะที่ในเว็บไซต์หลักก็สามารถหาดูคลิป Momo ได้ทั่วไป ซึ่งก็เป็นการดูดมาอัปโหลดใหม่ไปซะส่วนมาก บางทีอาจจะเป็นการอัปคลิปตามกระแสเพื่อดึงยอดวิวด้วยซ้ำ เราจึงไม่มีทางรู้ได้ว่าตัวต้นฉบับนั้นมันมีอยู่เท่าไหร่และเป็นของใครกันแน่

 

 

ในส่วนของข่าวที่มีเด็กฆ่าตัวตายจากการเล่น Momo Challenge ก็เป็นเพียงการเชื่อมโยงที่ไม่ได้มีการยืนยันจากทางตำรวจ ในประเทศต่างๆ เช่นสเปนและไอร์แลนด์เหนือ ทางตำรวจได้ยืนยันว่าไม่เคยได้รับแจ้งเหตุว่ามีเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับ Momo Challenge ส่งเข้ามา

สุดท้ายยูทูบเบอร์ Philip DeFranco ก็คาดการณ์ทฤษฎีที่น่าสนใจออกมาว่า Momo Challenge นั้นก็เป็นเพียงไฟที่ลามทุ่งเท่านั้น คือเริ่มจากการแกล้งกันเล็กๆ จากนั้นพอมีคนให้ความสนใจเยอะๆ มันจึงขยายกลายเป็นไวรัลขนาดใหญ่ลามไปทุกที่

จนสุดท้ายกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาในความรู้สึกของคน สร้างความวิตกกังวลในหมู่ผู้ปกครอง ทั้งที่ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันด้วยซ้ำ

 

 

ในส่วนของรูปแทนตัวตนของ Momo นั้น ความจริงแล้วมันไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่ไหน เป็นรูปปั้นผลงานของ Keisuke Aisawa ศิลปินชาวญี่ปุ่นทำขึ้นเพื่อใช้จัดแสดงใน Vanilla Gallery เมื่อปี 2016

รูปปั้นดังกล่าวนั้นมีต้นแบบมาจากภูติในตำนานของญี่ปุ่นชื่อว่า Ubume ซึ่งสามารถแปลงกายได้หลากหลายร่าง ซึ่งชื่อของ Ubume นั้นแปลตรงตัวได้ว่า นกผู้ขโมยเด็กทารก รูปปั้นตามจินตนาการของ Aisawa จึงมีร่างกายเป็นนกอย่างที่เห็น

 

เฮ้ ซับโย้ว แหมน

 

อย่างไรก็ตามเกมแห่งความตายนั้นไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องจ้อจี้ทั้งหมด แม้ว่า Momo Challenge อาจจะเป็นเพียงแค่ไวรัลที่คนแตกตื่นไปเอง แต่เกมมรณะที่โด่งดังอย่าง “ปลาวาฬสีน้ำเงิน” (Blue Whale) นั้นเกิดขึ้นจริงในประเทศรัสเซีย

เกมฆ่าตัวตายดังกล่าวถูกควบคุมโดยคนกลุ่มหนึ่งบนโซเชียลมีเดีย เป้าหมายของคนกลุ่มนี้คือเหล่าวัยรุ่นที่มีอารมณ์อ่อนไหว เปราะบาง จึงง่ายต่อการล่อลวงและควบคุม

 

 

ผู้ที่เคยเข้าร่วมเล่มเกมกับปลาวาฬสีน้ำเงินเล่าว่า ผู้คุมเกมจะส่งภารกิจมาให้ทำวันละ 1 อย่าง มีตั้งแต่ดูหนังสยองขวัญมาราธอน 24 ชั่วโมง ฟังเพลง ทำร้ายตัวเอง จนถึงวันที่ 50 ภารกิจสุดท้ายของเหยื่อคือ “ฆ่าตัวตาย”

เด็กสาว 2 คนจบชีวิตตนเองลง ก่อนตัดสินใจกระโดดตึก 14 ชั้น เธอทั้งคู่โพสต์ภาพปลาวาฬสีน้ำเงินลงในโซเชียลมีเดียของตัวเอง พร้อมแคปชั่นที่บรรยายถึงความรู้สึกไร้ค่าและหดหู่

 

 

นอกจากนี้ทางการรัสเซียยังเคยจับกุมตัว 1 ในผู้ควบคุมเกมได้ด้วย เขาชักจูงให้เด็กวัยรุ่นถึง 17 คนฆ่าตัวตาย อีก 5 คนที่เหลือโชคดีที่ทางตำรววจช่วยเหลือไว้ได้ทัน โดยคนร้ายนั้นได้ให้สัมภษณ์เอาไว้ด้วยว่า

“พวกเขาตายอย่างมีความสุข ผมแค่มอบสิ่งที่พวกเขาไม่เคยมีในชีวิตจริงให้ นั่นคือความเข้าใจ ความอบอุ่น และเพื่อน”

 

นาย Philip Budeikin หนึ่งในผู้ล่อลวงให้เด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตาย

 

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าเกมฆ่าตัวตายจะเป็นของจริงหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ปกครองควรมอบเข้ารัก ความเข้าใจ และความอบอุ่น ทำให้ลูกหลานไว้ใจคุณและพร้อมจะพูดคุยและปรึกษาได้ทุกเรื่อง สิ่งเหล่านี้จะช่วยปกป้องเด็กๆ จากเกมที่เล่นกับจิตใจและความไม่มั่นคงของพวกเขาได้

และเพราะมันเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนควรได้รับจาก “บ้าน” ของพวกเขา

 

เรียบเรียงโดย #เหมียวม่วง

ที่มา buzzfeednews, 9GAG และ เกมปลาวาฬสีน้ำเงิน โดย อดีตเหมียว


Tags:

Comments

Leave a Reply