สรุปการเลือกตั้งที่แสนสาหัสแห่ง “ไนจีเรีย” และ 5 บทเรียนสำคัญ จากการเลือกตั้งครั้งนี้

ใกล้เข้าไปกันทุกทีแล้วกับ ‘การเลือกตั้งประจำปี 2562’ ของบ้านเรา ซึ่งหลายคนต่างก็ตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการใช้สิทธิ์ครั้งแรกของใครหลายๆ คน หลังจากที่ไม่ได้เลือกตั้งมานานหลายปี

ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้น เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาประเทศ ‘ไนจีเรีย’ ก็เพิ่งจะมีการเลือกตั้งไป แถมยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก เรียกได้ว่าหนักหนาเอาการเลยทีเดียว มีทั้งการเลื่อนเลือกตั้งแบบกระชั้นชิด การก่อการร้าย และมีผู้เสียชีวิต

และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2019 ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ออกมาว่า มูฮัมมาดู บูฮารี ตัวแทนจากของพรรค All Progressives Congress ได้ประธานาธิบดีของไนจีเรียอีกครั้ง โดยเขาได้รับตำแหน่งเป็นสมัยที่สองแล้ว

 

 

แต่ อติกู อาบูบาการ์ หัวหน้าพรรค People’s Democratic Party ฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการ ‘หลอกลวง’ ประชาชนอย่างยิ่ง

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 มีบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ค่อยดีนัก เมื่อการเลือกตั้งได้ประกาศเลื่อนออกไปก่อนเปิดหีบลงคะแนนเพียงไม่กี่ชั่วโมง ด้วยเหตุผลว่าต้องการจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใส

จนกระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์มีการเลือกตั้งตามปกติอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เกิดเหตุการณ์นองเลือดก่อนเปิดหีบคูหาไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากกลุ่มก่อการร้ายโบโกฮารัมได้ใช้ระเบิดโจมตีเมืองไมดูกูรี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย และมีคนเสียชีวิตทั้งหมด 16 ราย

ซึ่งทางสำนักข่าว BBC ก็ได้สรุปข้อมูลถึง “ความน่าสนใจ” ของการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมา และนี่คือสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีไนจีเรียคนล่าสุด…

 

1. เป็นการเลือกตั้งที่มีประชาชนมีสิทธิ์เข้าคูหาโหวตมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

การเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 73 ล้านคน ทำให้มันกลายเป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทวีปแอฟริกา แต่สุดท้ายแล้ว กลับมีผู้ใช้สิทธิเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด

หมายความว่านับตั้งแต่ประเทศไนจีเรียได้เปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ครั้งนี้ถือว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยที่สุดในรอบ 20 ปี ทั้งที่มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ์สูงสุด

 

ผลการเลือกตั้งของสองพรรคใหญ่ APC (All Progressives Congress) และ PDP (People’s Democratic Party)

 

2. นักการเมือง บูฮารี (ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) ยังถือว่าครองเสียงส่วนมากในทางตอนเหนือของไนจีเรีย

พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างอติกู อาบูบาการ์ กล่าวว่าการเมืองครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ขาวสะอาด จากเรื่องของการนับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเป็นต้น

สาเหตุมาจากความสงสัยในเรื่องจำนวนคะแนนเสียงของรัฐอะกวาอิบอมมีคะแนนลดลงมาอย่างน่าตกใจถึง 50% เทียบกับการเลือกตั้งในปี 2015 ทั้งที่รัฐทางตอนใต้นี้ส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคการเมืองของอาบูบาการ์ มาโดยตลอด

และผลยังออกมาอีกว่าทั้งคะแนนเสียงจากรัฐทางตอนใต้ทั้งหมดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ประธานาธิบดีบูฮาริเองนั้นมีจำนวนผู้สนับสนุนทางตอนเหนือของประเทศเป็นจำนวนมากก็จริง แต่จำนวนคะแนนเสียงของบูฮาริยังเท่าเดิมไม่เปลี่ยนอย่างมีนัยยะตลอดการเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้ง 5 สมัยที่ผ่านมา

แน่นอนว่าอาบูบาการ์ มีคะแนนเสียงชนะนายบูฮาริในทางตอนใต้ แต่ก็ไม่มากพอที่จะเอาชนะฐานเสียงจำนวนถึง 4 ล้านคนที่โหวตให้กับบูฮาริได้

 

จำนวนของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกตั้ง (ยิ่งสีเข้มยิ่งมีคนมาโหวตมาก)

 

3. ถึงแม้จะมีความกังวลด้านความปลอดภัย แต่กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลบูฮาริก็ดูไม่เกรงกลัวหลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดในวันเลือกตั้ง

นายอาบูบาการ์ได้ตั้งคำถามถึงกรณีที่บางรัฐทางตอนเหนือของไนจีเรียถูกโจมตีโดยกลุ่มโบโกฮารัมในวันเลือกตั้ง ทั้งที่น่าจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยโดนผลกระทบจากเหตุก่อการร้ายในครั้งนั้น แต่กลับมีคะแนนเสียงออกมาสูงลิ่วอยู่ดี

โดยหลังเกิดเหตุทั้งรัฐบอร์โน และรัฐโยเบในทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นกลุ่มฐานเสียงของพรรค APC ได้ถูกกองกำลังรักษาความปลอดภัยเคลื่อนย้ายคนถึง 2 ล้านคนออกไปแล้ว อีกทั้งกลุ่มสนับสนุนประธานาธิบดีบูฮาริไม่ได้รู้หวั่นไหวแต่อย่างใด

ส่วนทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดพื้นที่ในการลงคะแนนเสียงให้กับคนราว 400,000 คน บนเขตพื้นที่ปลอดภัย หลังมีการเคลื่อนย้ายคนออกไปแล้ว

 

 

4. ผู้ลงสมัครทั้งสองพรรคต่างได้รับผลกระทบจากการเลื่อนเลือกตั้ง

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปหนึ่งสัปดาห์ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการขนส่งตู้หีบการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ประชาชนที่เดินทางมาถึงเขตภูมิลำเนาต้องผิดหวังและเสียเวลา เพราะพวกเขาต้องกลับมาเลือกตั้งอีกครั้งในอาทิตย์ถัดไป แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อผู้สนับสนุนทั้งสองพรรคพอๆ กัน

 

5. การโหวตด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาจมีความโปร่งใสมากกว่า

นักวิเคราะห์บางกลุ่มได้เสนอแนวทางว่าการเปิดใช้ระบบการเลือกตั้งแบบอิเล็คทรอนิกส์ อาจช่วยขจัดปัญหาความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นโดยมนุษย์ ถึงแม้จะมีการรายงานว่าเคยเกิดปัญหาระบบการเลือกตั้งแบบอิเล็คทรอนิกส์ล่ม

นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้มองเห็นภาพรวมในการเลือกตั้งได้ดีกว่ามาก และสามารถทำโพลสำรวจได้ดีด้วย เช่นเดียวกับการตรวจหาการพยายามโกงผลโหวตพรรคทางการเมืองทั้งหลาย

 

 

ที่มา: bbc, dwwilsoncenterpremiumtimesng


Tags:

Comments

Leave a Reply