งานวิจัยใหม่บอก “โซนาร์” ไม่เพียงแต่ทำให้สัตว์ทะเลกลัว แต่อาจทำให้วาฬตายได้ด้วย

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พอจะทราบว่าคลื่นโซนาร์ ส่งผลกระทบบางอย่างกับสัตว์ทะเลบางชนิดเช่นวาฬ จากการที่พวกมันมักจะว่ายน้ำหนีแหล่งกำเนิดคลื่นโซนาร์อยู่เสมอๆ

อย่างไรก็ตามจากผลการวิจัยที่ออกมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา เราก็ได้ทราบว่าโซนาร์ไม่เพียงแต่ทำให้วาฬว่ายน้ำหนีเท่านั้น แต่มันยังทำให้วาฬถึงตายได้เลยอีกด้วย

 

 

งานวิจัยในครั้งนี้เกิดขึ้นจากข้อสังเกตที่ว่าก่อนที่จะมีการผลิตคลื่นโซนาร์ที่ใช้งานความถี่ปานกลาง หรือ “MFAS” ในยุค 1960 เราแทบจะไม่เคยได้ยินข่าววาฬอย่างวาฬเบลคคูเวียร์เกยตื้นตายตามชายฝั่งเลย แต่พอ MFAS เริ่มพัฒนาขึ้นเราก็เห็นข่าววาฬรูปแบบนี้เกยตื้นมากขึ้นตามไปด้วย

นั่นทำให้นักวิจัยคิดว่าการพัฒนาของ MFAS น่าจะต้องมีความเกี่ยวข้องอะไรกับความตายของวาฬเบลคคูเวียร์แน่ๆ และหลังจากที่พวกเขาตรวจสอบเหตุการณ์วาฬเกยตื้นครั้งใหญ่ที่ประเทศกรีซระหว่างช่วงปี 2002-2014 พวกเขาก็พบว่าวาฬที่เกยตื้นนั้นมีบางส่วนที่มีฟองก๊าซจำนวนมากอยู่ในกระแสเลือด

 

นี่เป็นอาการที่เหล่านักดำน้ำรู้จักกันในชื่อ “โรคลดความกด” หรือ “โรคน้ำหนีบ” (Decompression sickness) ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการที่ลอยตัวขึ้นจากน้ำเร็วเกินไป จนก๊าซไนโตรเจนในเลือดกลายเป็นฟอง และอาจอุดเส้นเลือดที่ไขสันหลังหรือสมองจนสลบหรือเป็นอัมพาต จนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

สิ่งที่พวกเขาพบทำให้นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่าวาฬที่เกยตื้นเหล่านี้น่าจะตกใจคลื่นเสียงของ MFAS จนทำให้พวกมันพยายามว่ายน้ำหนีให้เร็วที่สุด จนขึ้นมายังผิวน้ำเร็วเกินไปจนเกิดอาการโรคลดความกดและเกยตื้นไปในที่สุด

 

 

การค้นพบในครั้งนี้ช่วยอธิบายเหตุผลว่าทำไมในปี 2004 หลังจากที่สเปนห้ามการใช้คลื่นโซนาร์ในหมู่เกาะคานารีซึ่งเคยเป็นจุดเกยตื้นจุดใหญ่ การเกยตื้นของวาฬก็ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัดได้อย่างดี

ดังนั้นหลังจากที่งานวิจัยเสร็จสิ้นลง ทีมวิจัยจึงได้เสมอให้มีการห้ามใช้งานคลื่นโซนาร์ในพื้นที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอันเป็นที่อยู่อาศัยของวาฬเบลคคูเวียร์ เพื่อป้องกันการลดลงของประชากรวาฬในมหาสมุทรต่อไป

 

ที่มา iflscience และ livescience

Comments

Leave a Reply