นักวิทย์พบ “กาแล็กซีสุดเหงา” ห่างจากโลก 30 ล้านปีแสง และเก่าแก่เกือบเท่าจักรวาล

ในยุคที่เทคโนโลยีเกี่ยวกับดาราศาสตร์ก้าวไกลเช่นนี้มนุษย์เราได้ทำการค้นพบกาแล็กซีใหม่ๆ กันเป็นจำนวนมาก จนทำให้ในบางครั้งการค้นพบกาแล็กซีก็กลายเป็นอะไรที่ดูธรรมดาและไม่น่าสนใจไป แต่เมื่อล่าสุดนี้เองนักดาราศาสตร์ก็สามารถค้นพบกาแล็กซีใหม่ที่น่าสนใจมากพอที่จะนำมาบอกเล่าจนได้

เพราะในขณะที่นักดาราศาสตร์สำรวจอวกาศด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลอยู่นั่นเอง พวกเขาก็พบว่าที่ด้านหลังของกระจุกดาวทรงกลม NGC 6752 ที่อยู่ห่างไปราวๆ 13,000 ปีแสงนั้น แท้จริงแล้วยังมีกาแล็กซีอยู่อีกแห่งหนึ่ง

 

ภาพของกระจุกดาวทรงกลม NGC 6752 นับเป็นกระจุกดาวที่สว่างที่สุดเป็นอันดับ 3 ที่มนุษย์เคยพบมา

 

นี่เป็นกาแล็กซีที่ได้รับชื่อเล่นว่า “Bedin 1” กาแล็กซีขนาดค่อนข้างเล็กที่มีความกว้างสูงสุดอยู่ที่ 3,000 ปีแสง (กาแล็กซีทางทางเผือกมีขนาด 105,700 ปีแสง) แถมยังมีแสงที่ริบหรี่มากจนถูกจัดให้เป็นกาแล็กซีทรงกลมแคระไป

แต่แม้ว่ากาแล็กซีทรงกลมแคระจะไม่ใช่ของที่หายาก “Bedin 1” กลับมีความพิเศษกว่านั้น เพราะไม่เพียงแต่มันจะห่างจากโลกถึง 30 ล้านปีแสงเท่านั้น แต่มันยังมีระยะห่างจากกาแล็กซี่ NGC 6744 ที่อยู่ใกล้ที่สุดถึง 2 ล้านปีแสงทำให้ Bedin 1 ถูกเรียกว่าเป็นกาแล็กซี่ “สุดเหงา” แห่งหนึ่งที่มนุษย์เคยพบมาเลย

 

ขึ้นตอนการขยายภาพเพื่อระบุตำแหน่งของ Bedin 1

 

เท่านั้นยังไม่พอกาแล็กซี Bedin 1 ยังถือว่าเป็นกาแล็กซีที่มีอายุถึง 13,000 ล้านปี เรียกได้ว่าเป็นกาแล็กซี่แรกๆ ที่เกิดขึ้นมาเลยก็ไม่ผิดนัก ซึ่งเมื่อบวกกับการที่มีระยะห่างจากกาแล็กซี่อื่นๆ มากขนาดนี้ก็ทำให้ Bedin 1 เป็นเหมือนฟอสซิลจากสมัยกำเนิดจักรวาลที่ยังไม่เคยถูกแตะต้องเลยทีเดียว

นักดาราศาสตร์บอกว่าการค้นพบกาแล็กซี Bedin 1 ในครั้งนี้นับว่าต้องขอบคุณกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเป็นอย่างมากเลย เพราะในอดีตมนุษย์เรานั้นแทบจะไม่มีโอกาสจับภาพกาแล็กซีที่มีแสงริบหรี่ขนาดนี้เป็นแน่

 

ดาวสว่างๆ ที่เห็นเป็นส่วนหนึ่งของกระจุกดาวทรงกลม NGC 6752 ส่วนจุดเล็กๆ ริบหรี่ๆ ด้านหลังคือ กาแล็กซี Bedin 1 ที่อยู่ห่างออกไป 30 ล้านปีแสง

 

และหากเรามีโอกาสไปเหยียบกาแล็กซี่นี้ในอนาคต (อันห่างไกล) พวกเราก็อาจจะเรียนรู้เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับจักรวาล จากกาแล็กซี่เก่าแก่แห่งนี้ก็เป็นได้

 

ที่มา iflsciencedailygalaxy และ sciencedaily

Comments

Leave a Reply