ผลซีทีสแกนพบ มัมมี่ชาวเอสกิโม มีภาวะหลอดเลือดแข็งทั้งที่ทานอาหารดีต่อสุขภาพ

ในช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ทีมแพทย์จากบริคแฮม รัฐแมสซาชูเซต สหรัฐอเมริกา ได้ให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในการตรวจสอบมัมมี่จำนวนห้าร่างจากกรีนแลนด์ในศตวรรษที่ 16 และพบมัมมี่บางส่วนที่มีร่องรอยการเป็นโรคทางหัวใจและหลอดเลือดในตอนที่ยังมีชีวิต

 

 

นี่เป็นการค้นพบที่เกิดขึ้นหลังจากทีมแพทย์ที่นำทีมโดย Dr. Ron Blankstein ได้ทำซีทีสแกนมัมมี่ชาวอินูอิต หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “ชาวเอสกิโม” ที่มีอายุร่วม 500 ปี และประกอบไปด้วยผู้ใหญ่ 4 คน และเด็กอีก 1 คน

พวกเขาพบว่าพบว่า 3 ใน 5 ของมัมมี่ทั้งหมด มีไขมันจับที่ผนังของหลอดเลือด หรือที่เรียกกันว่า “พลาค” (Plaque) ทั้งในเส้นเลือดใหญ่ และหลอดเลือดแดงบริเวณคอ ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีของภาวะหลอดเลือดแข็ง

 

 

จริงอยู่ว่าที่อาจจะไม่ใช่การทำซีทีสแกนหรือการค้นพบภาวะหลอดเลือดแข็งในมัมมี่ครั้งแรกของโลกก็ตามที แต่นี่ก็ถือว่าเป็นการค้นพบภาวะหลอดเลือดแข็งเป็นครั้งแรก และครั้งสำคัญในมัมมี่ของกรีนแลนด์เลย

นั่นเพราะตามปกติแล้วภาวะหลอดเลือดแข็งมักจะมีความเกี่ยวข้องกับการทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อย่างเนื้อวัว เนื้อหมู หรือของมัน

ดังนั้นการที่ชาวเอสกิโมซึ่งมีอาหารหลักเป็นปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด มีอาการภาวะหลอดเลือดแข็งเสียเองจึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับทีมนักวิทยาศาสตร์เลย

 

 

เท่านั้นยังไม่พอเพราะมัมมี่ของชาวเอสกิโมที่นำมาตรวจสอบยังมีอายุที่ค่อนข้างต่ำอีกด้วย ทำให้การค้นพบภาวะหลอดเลือดแข็งในมัมมี่เหล่านี้จึงยิ่งกลายเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เข้าไปอีก

Dr. Ron บอกว่าที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะ แม้ว่าชาวเอสกิโมจะมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พวกเขากลับมักทำอาหารในที่แคบซึ่งทำให้ต้องสูดดมควันอาหารเป็นเวลานานจนนำไปสู่การสะสมของพลาคก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามนี่ยังคงเป็นเพียงการคาดเดาของทางทีมแพทย์เองเท่านั้น และเหตุผลจริงๆ ที่มัมมี่เหล่านี้มีภาวะหลอดเลือดแข็งแบบนี้ได้ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ทีมแพทย์จะต้องมีการตรวจสอบกันต่อไป

 

 

ที่มา livescienceharvard และ forbes

Comments

Leave a Reply