บริษัทญี่ปุ่นปล่อยดาวเทียมสร้าง “ฝนดาวตกเทียม” ขึ้นสู่อวกาศ เชื่อพร้อมใช้งานในปี 2020

ในช่วงปี 2016 บริษัทของประเทศญี่ปุ่นชื่อ Astro Live Experiences (ALE) ได้วางแผนยิงดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นไปบนอวกาศ

มันเป็นดาวเทียมที่ประกอบไปด้วยเม็ดทองแดง แบเรียม โพแทสเซียม รูบิเดียม และซีเซียม ที่เมื่อปล่อยให้เผาไหม้ผ่านชั้นบรรยากาศจะลุกเป็นสีต่างๆ ซึ่งหากมองจากบนโลกจะมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับฝนดาวตกเลย เพียงแค่ทำได้ทุกเมื่อที่ต้องการก็เท่านั้น

 

 

ว่าง่ายๆ ว่าโปรเจกต์ของบริษัท ALE นั้น มีเป้าหมายที่จะขายฝนดาวตกเทียมให้แก่ใครก็ตามที่มีทรัพย์สินมากพอนั่นเอง

ในเวลานั้นพวกเขาวางแผนว่าโปรเจกต์จะแล้วเสร็จ และสามารถยิงฝนดาวตกเทียมครั้งแรกได้ภายในกลางปี 2019 ที่เมืองฮิโรชิมา ก่อนที่จะนำ “ออกจำหน่าย” ให้กับคนทั่วไปหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตามหลังจากการดำเนินการเริ่มขึ้นได้ช่วงหนึ่ง บริษัท ALE ก็ได้ออกมาประกาศเลื่อนกำหนดการปล่อยฝนดาวตกครั้งแรกออกไปเป็นฤดูใบไม้ผลิปี 2020 แทน แถมยังมีการลดปริมาณเม็ดสารเคมีที่ใช้ลงจาก 1,000 เม็ดลงเหลือเพียง 400 เม็ดอีกด้วย (แต่ก็ยังทำฝนดาวตกได้ราวๆ 20-30 ชุดอยู่ดี)

 

 

แต่ถึงแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนกำหนดการอยู่บ้างก็ตาม ทางบริษัท ALE ก็ได้ประสบความสำเร็จในการยิงดาวเทียมออกไปจริงๆ แล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2019 ที่ผ่านมา

จากการรายงานของ ALE พวกเขาจะต้องใช้เงินราวๆ 9,500 ล้านบาท ต่อการยิงดาวเทียมหนึ่งลูก ดังนั้นราคาการว่าจ้างทำฝนดาวตกต่อครั้งจึงมีแนวโน้มที่ราคาจะสูงเอามากๆ เลยทีเดียว

 

จรวด Epsilon-4 ที่ถูกปล่อยออกไป บรรทุกดาวเทียม 7 ดวง หนึ่งในนั้นคือดาวเทียมของบริษัท ALE

 

ดังนั้นหากไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในปีหน้าคนญี่ปุ่นก็จะได้เห็นฝนดาวตกเทียมที่สร้างโดยมนุษย์ และได้รับความสามารถที่จะทำให้ฝนดาวตกตกลงมาเมื่อไหร่ก็ได้ไปครอบครอง (ตราบใดที่มีเงิน)

 

ที่มา livesciencephys และ telegraph


Tags:

Comments

Leave a Reply