ย้อนรอยเรื่องราวของ “ซุเคะบัน” นักเลงหญิงแห่งญี่ปุ่น ที่แพร่หลายโด่งดังในช่วงยุค 70

สำหรับคนที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น อาจจะเคยเห็นภาพของสาวกระโปรงยาวหัวหน้ากลุ่มนักเลงหญิงกันมาบ้าง คนในลักษณะนี้มีชื่อเรียกกันว่า “ซุเคะบัน” (スケバン) ซึ่งแปลตรงๆ ว่า “หัวหน้าหญิง” ตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับ “บันโจ” ของฝั่งผู้ชาย

 

 

แม้จะไม่มีการบันทึกที่แน่ชัดว่าเรื่องราวของซุเคะบันเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่เชื่อกันว่าซุเคะบันเริ่มมีบทบาทค่อนข้างชัดเจนในช่วงปลายยุค 60 จนถึงช่วงยุค 70 ของประเทศญี่ปุ่น

แม้ว่าจริงๆ แล้ว ซุเคะบันจะหมายถึงคนคนเดียว แต่เมื่อกาลเวลาผ่าน ลักษณะของซุเคะบันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละน้อย ทำให้บ่อยครั้งซุเคะบันจะถูกเหมารวมว่าใช้กับผู้หญิงที่เป็น “แยงกี้” (ราวๆ ว่านักเลงของญี่ปุ่น)

 

 

อย่างที่กล่าวไว้ด้านบนว่าผู้หญิงที่เป็นแยงกี้หรือซุเคะบันมักจะมีการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์ พวกเธอมักจะใส่กระโปรงยาว พับแขนเสื้อ หรือบางทีก็ใส่เสื้อคลุมยาว และผ้าคาดศีรษะเอาไว้ด้วย

มีแนวคิดที่หลากหลายที่อธิบายการแต่งตัวของพวกเธอ ตั้งแต่เป็นการประท้วงที่นักเรียนต้องใส่ชุดนักเรียนปกกะลาสี เป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะแหกกฎ เรื่อยไปจนการใส่กระโปรงยาวช่วยให้พวกเธอซ่อนอาวุธได้ง่ายขึ้น

 

 

แน่นอนว่าต่อมาวัฒนธรรมย่อยอย่างซุเคะบันก็ค่อยๆ หายไปจากสังคมของโรงเรียนของญี่ปุ่นทีละน้อย (อาจจะเพราะเป็นการต่อต้านที่โจ่งแจ้งเกินไป) จนกระทั่งปลายยุค 80 เราก็แทบไม่เห็นซุเคะบันในโรงเรียนญี่ปุ่นอีกต่อไป

นี่ไม่ได้หมายความว่าวัฒนธรรมต่อต้านกฎเกณฑ์ในโรงเรียนหมดไปแล้วแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมซุเคะบันและแยงกี้ ถูกทดแทนด้วยวัฒนธรรม “สาวแกล” (ギャル) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแต่งหน้าจัด ทำผิวแทน และใส่กระโปรงสั้น

 

 

จริงอยู่ว่า สาวแกลจะไม่ได้แสดงการต่อต้านออกมารุนแรงเท่าซุเคะบันและแยงกี้ แต่ในขณะเดียวกันพวกเธอก็มักจะไม่ได้ปฏิบัติตัวตาม “กฎของแก๊ง” เช่นเดียวกับซุเคะบัน ทำให้บางครั้งสาวเกลก็ดูจะรับมือยากกว่าในสายตาของคนในสังคมเช่นกัน

และแม้ว่าซุเคะบันจะค่อยๆ หายไปแล้วก็ตาม แต่ชื่อเสียงของผู้หญิงเหล่านี้ก็จะยังได้รับการจดจำผ่านทางสื่อต่างๆ อย่างการ์ตูน และภาพยนตร์ต่อไป

 

 

ที่มา nextsharkdazeddigitalvintag และ wikipedia

Comments

Leave a Reply