นักวิทย์พบ “ลาพิส ลาซูลี่” บนคราบหินปูนบนฟันหญิงสาวโบราณ เชื่อเธออาจเป็นศิลปิน

เมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาสื่อต่างประเทศได้ออกมารายงานการค้นพบครั้งใหม่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของจิตรกรเพศหญิงในช่วงกลาง โดยอ้างอิงจากคราบหินปูนบนฟันที่มีการค้นพบในประเทศเยอรมนี

 

 

เป็นเรื่องที่ทราบกันดีว่าผลงานทางศิลปะ และการบันทึกเอกสารสำคัญจากยุคกลางที่โลกเคยมีการพบมานั้น ส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือของศิลปินที่เป็นผู้ชาย

ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีนักโบราณคดีหลายคนที่ติดภาพลักษณ์ว่าด้วยความไม่เท่าเทียมทางสังคมในสมัยก่อนทำให้งานเกี่ยวกับศิลปะและการคัดลอกเอกสารสำคัญ กลายบทบาทหน้าที่ของผู้ชายโดยเฉพาะไป

 

ตัวอย่างผลงานศิลปะจากประเทศเยอรมนีในช่วงยุคกลาง

 

“ลองนึกภาพคนในสมัยก่อน กำลังคัดลอกหนังสือโบราณดูสิ” Alison Beach นักประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตตอธิบาย “คนส่วนใหญ่จะนึกภาพคนที่กำลังคัดลอกออกมาเป็น บาทหลวงมากกว่าแม่ชีใช่ไหมล่ะ”

แต่แล้วเมื่อตอนที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบคราบหินปูนบนฟันของโครงกระดูกหญิงสาววัยกลางคนร่างหนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตไปในช่วงปี ค.ศ. 1100 ที่เมือง Dalheim ประเทศเยอรมนี พวกเขากลับพบว่าในหินปูนของเธอนั้นมีร่องรอยของหินลาพิส ลาซูลี่อยู่

การค้นพบในครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงเวลาที่หญิงสาวคนดังกล่าวมีชีวิตอยู่ลาพิส ลาซูลี่จะเป็นของที่มีราคาแพงมาก (บางบันทึกบอกว่าแพงยิ่งกว่าทองอีก)

 

ลาพิส ลาซูลี่

 

ด้วยความแพงนี้เองทำให้ลาพิส ลาซูลี่มักจะถูกใช้ไปในการตกแต่งหนังสือ (โดยเฉพาะหนังสือทางศาสนา) หรือไม่ก็ถูกนำไปบดใช้เป็นสีในการวาดภาพด้วยโดยศิลปินที่มีฐานะ แต่ไม่ว่าจะเป็นทางไหน นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วๆ ไปจะสามารถนำมาใช้งานได้ง่ายๆ เลย

การค้นพบในครั้งนี้ทำให้นักโบราณคดีตั้งข้อสันนิษฐานว่า โครงกระดูกที่พวกเขาทำการตรวจสอบนั้น น่าจะเป็นของหญิงสาวผู้เป็นแม่ชี และมีลาพิส ลาซูลี่ติดอยู่ในคราบหินปูนจากการที่เธอเลียพู่กัน (เพื่อจัดแนวขนพู่กัน) ในระหว่างทำงาน

 

ลาพิส ลาซูลี่บนคราบหินปูนเมื่อขยายดูด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย

 

นั่นหมายความว่าจริงแล้วในอดีต (อย่างน้อยๆ ก็ในเยอรมนี) ผู้หญิงอาจจะมีบทบาทมากในด้านงานศิลป์มากกว่าที่เราคิด แถมในบรรดาผู้หญิงเหล่านั้นก็ยังมีศิลปินที่มีฝีมือมากพอที่จะใช้งานลาพิส ลาซูลี่ที่มีราคาสูงอยู่ด้วย

“เรื่องราวของผู้หญิงเหล่านี้อาจจะถูกซ่อนไปตลอดกาลหากเราไม่ตรวจสอบพวกเธอด้วยเทคนิคนี้” Christina Warinner หนึ่งในทีมงานผู้ทำการวิจัยในครั้งนี้

“มันทำให้ฉันสนใจว่าเราจะพบศิลปินในรูปแบบนี้ที่สุสานอื่นๆ อีกกี่คน ถ้าเราทำการค้นหาพวกเขาอย่างจริงจัง”

 

ที่มา historychristiantoday และ nationalpost

Comments

Leave a Reply