บริษัทเทคโนโลยีจ้างเฉพาะผู้ป่วยโรค ‘ออทิซึม’ เพียงอย่างเดียว เพราะมองเห็นถึงศักยภาพ!!

โดยปกติแล้วบริษัทส่วนใหญ่ จะทำการรับพนักงานที่เก่ง และมีความสามารถ ตรงตามเป้าหมายของธุรกิจที่ทำอยู่

แต่มีบริษัทเทคโนโลยีบริษัทหนึ่ง ที่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อว่า Auticon กำลังตั้งเป้าที่จะเลือกจ้างแต่คนที่ป่วยเป็นโรค ‘ออทิซึม’ (Autism) เท่านั้น!!

 

 

จากข้อมูลของหน่วยงาน National Autistic Society พบว่ามีผู้ป่วยออทิสติกผู้ใหญ่เพียง 16 เปอร์เซ็นต์ ที่ถูกจ้างงานแบบเต็มเวลา และสถานการณ์ก็เป็นแบบนี้มานานนับ 10 ปีแล้ว

และข้อมูลที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ กว่า 85 เปอร์เซ็นต์จากพนักงานใน Auticon สาขาสหราชอาณาจักร ล้วนแล้วแต่ถูกเลิกจ้างงานก่อนเข้ามาทำงานที่บริษัทนี้ แม้ว่าพวกเขาจะมีใบปริญญาก็ตาม

มันแสดงให้เห็นว่า ‘ความสามารถอันล้นหลามของบรรดาผู้ป่วยเป็นออทิสติก กับอัตราการจ้างงานสำหรับพวกเขา’ มันช่างขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

 

 

Viola Sommer หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Auticon ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า “มีผู้คนที่ป่วยเป็นโรคออทิซึมจำนวนมากมักถูกเหมารวมว่าไม่สามารถทำงานได้ พวกเขาจึงรู้สึกว่ามันยากมากที่จะได้รับการพิจารณาในการสมัครงานแบบทั่วๆ ไป

แม้จะสามารถเข้าไปรับตำแหน่งงานได้ แต่พวกเขาจะทำงานได้อย่างยากลำบากในบริษัทแบบปกติ ที่ป้อนงานที่ออกแบบมาใช้กับคนที่มีระบบประสาทเป็นปกติ

แต่สมองของผู้ป่วยออทิซึมจะมีการรับรู้ที่ผิดแผกแตกต่างกัน ฉะนั้นเราต้องเพิ่มความยืดหยุ่น ความหลากหลายเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมภายในบริษัท หรือรูปแบบงาน มันก็จะสามารถส่งเสริมให้พวกเขาทำงานกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น”

 

 

‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ ของพนักงานในบริษัทถือเป็นเป้าหมายหลักของ Auticon มีการจ้างพนักงานในตำแหน่ง Jump Coach เข้ามา เป็นพนักงานที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลพนักงานที่เป็นออทิซึมอย่างใกล้ชิด โดยโค้ช 1 คนจะดูแลพนักงานออทิซึม 6-7 คน

“พวกเราต้องปฏิบัติกับเขาเป็นรายบุคคล ต้องใช้เวลาเพื่อทำความรู้จักกับพวกเขา เพื่อจะได้รู้ว่าสภาพแวดล้อมของการทำงานแบบไหนที่จะช่วยให้พวกเขาแสดงศักยภาพออกมา”

Auticon เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนมุมมองเหล่านั้น โดยจะทำการประกาศรับสมัครพนักงานที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับออทิซีม ในสาขาลอนดอน และสกอตแลนด์เพิ่มเติมในปี 2019 นี้!!

 

ที่มา : unilad, National Autistic Society


Tags:

Comments

Leave a Reply