“การสังหารหมู่หน้าโรงรถที่เคานัส” เหตุการณ์คนในชาติฆ่ากันเองที่ถูกลืม แห่งประเทศลิทัวเนีย

เป็นเรื่องที่หลายๆ คนทราบกันว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคนาซีเป็นต้นเหตุใช้ชาวยิวจำนวนมากต้องเสียชีวิตไปในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแล้วครั้งเล่า

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่เป็นที่รู้จักกันนั้นโดยมากแล้วจะเกิดขึ้นที่เยอรมนีเอง หรือไม่ก็ในประเทศโปแลนด์ จากชื่อเสียงของค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นยังเกิดขึ้นที่อื่นอีกหลายที่

 

 

และหนึ่งในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่มักจะถูกลืมก็เกิดขึ้นที่ประเทศลิทัวเนีย โดยนี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 1941 หลังจากที่เยอรมนีบุกมาถึงประเทศลิทัวเนียนั่นเอง

นี่เป็นเหตุการณ์ที่ถูกเรียกด้วยชื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ลิทัวเนีย” “การสังหารหมู่หน้าโรงรถที่เคานัส” หรือ “Kaunas pogrom”

 

 

นี่เป็นการสังหารหมู่ที่ค่อนข้างแปลก เพราะเอาเข้าจริงๆ คนที่ลงมือสังหารชาวยิวนั้นแทบจะไม่ใช่ทหารนาซี แต่เป็นคนในประเทศด้วยกันเองต่างหาก

เรื่องของเรื่องคือในลิทัวเนียเองมีประชาชนอยู่ส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจการปกครองของทางโซเวียต ดังนั้นพวกเขาจึงอ้าแขนรับการมาของกองทัพนาซีอย่างเต็มที่ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากเข้าร่วมกับนาซี ประเทศของพวกเขาจะได้ปกครองตนเองเสียที

 

 

แน่นอนว่าการเข้าร่วมกับนาซีนั้น มาพร้อมกับวัฒนธรรมการเหยียดชาวยิว นั่นทำให้ในช่วงเวลานั้นชาวยิวในลิทัวเนียจำนวนมากต้องถูกสังหารไป

และเหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ก็เกิดขึ้นในวันที่ 25–29 มิถุนายน 1941 เพียงหนึ่งวันหลังจากที่นาซีเข้าปกครองลิทัวเนียนั่นเอง

 

 

โดยในช่วงนั้น ชาวยิวจะถูกเรียกมารวมตัวกันที่หน้าโรงรถในตอนบ่าย ก่อนที่บางส่วนจะถูกทุบตีจนตายด้วยพลั่ว แท่งเหล็ก หรือวิธีการโหดร้ายอื่นๆ โดยมีผู้ลงมือที่เป็นคนชาติเดียวกัน ท่ามกลางประชาชนที่มุงดูอยู่รอบๆ

 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งการบันทึกภาพและขั้นตอนแทบทั้งหมดไว้อย่างชัดเจน และกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ดำมืดที่สุดอันหนึ่งของประเทศไปเลย แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็เป็นเพียงแค่การเปิดม่านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศเท่านั้น

 

 

เพราะตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวราวๆ 91-95% ในประเทศลิทัวเนียก็ถูกสังหารทิ้ง ทำให้ลิทัวเนียกลายเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนชาวยิวที่เสียชีวิตสูงที่สุดในเหตุการณ์ฮอโลคอสต์

 

ที่มา rarehistoricalphotos และหนังสือ Shared History, Divided Memory

Comments

Leave a Reply