งานวิจัย DNA พบ ชาวเปรูโบราณวิวัฒนาการหัวใจ เพื่อใช้ชีวิตบนเทือกเขาแอนดีส

เป็นเรื่องที่เราทราบกันดีว่าการอาศัยอยู่บนภูเขาสูงที่มีอากาศเบาบางนั้นเป็นเรื่องที่ลำบากสำหรับมนุษย์ขนาดไหน แต่สำหรับชาวเปรูโบราณแล้ว การอาศัยอยู่บนเทือกเขาแอนดีสมันก็เป็นเพียงเรื่องธรรมดาๆ อย่างหนึ่งของชีวิตเท่านั้น

แม้ไม่อาจแน่ใจได้ว่าชาวเปรูขึ้นไปอาศัยอยู่บนเทือกเขาแอนดีสเพราะอะไร แต่นักโบราณคดีก็พบหลักฐานที่ว่าพวกเขาเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาแอนดีสครั้งแรกเมื่อราวๆ 12,000 ปีก่อนเลยทีเดียว

 

 

และแน่นอนว่าเมื่อขึ้นไปอยู่ข้างบนนานขนาดนั้น ร่างกายของมนุษย์ก็ย่อมเริ่มที่จะมีการปรับตัวเป็นธรรมดา ซึ่งสำหรับชาวเปรูแล้ว การปรับตัวของพวกเขาเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 7,000 ปีที่แล้ว

โดยจากการตรวจสอบ DNA ของคนในพื้นที่ และนำไปเปรียบเทียบกับ DNA ของคนเปรูในสมัยก่อนที่เคยมีการค้นพบก่อนหน้า ดูเหมือนว่าชาวเปรูในสมัยก่อนจะพัฒนาหัวใจให้ใหญ่กว่าคนทั่วๆ ไปขึ้นมา

 

 

นั่นทำให้ความดันโลหิตของพวกเขาค่อนข้างสูง จนง่ายต่อการอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงๆ ที่มีออกซิเจนน้อยกว่าปกติไป

นอกจากนี้ DNA ของชาวเปรูที่อาศัยในพื้นที่สูงๆ ของเทือกเขาแอนดีสเอง ยังมีความแตกต่างจากคนที่อาศัยในพื้นที่ต่ำกว่าในหลายๆ แห่งเลยด้วย

 

เป็นไปได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของ DNA เหล่านี้จะมาจากการที่ชาวเปรูบนเขา เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการล่าสัตว์และเก็บของป่าเป็นการเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงชีพก็เป็นได้

นั่นเพราะกลุ่มคนที่อาศัยในพื้นที่ต่ำกว่านั้น ยังคงรักษาวิถีชีวิตของการล่าสัตว์และเก็บของป่าไปอีกค่อนข้างนานเลย

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่าชาวเปรูในสมัยก่อนน่าจะแยกตัวออกเป็นกลุ่มที่อาศัยในพื้นที่สูงกับกลุ่มที่อาศัยในพื้นที่ต่ำกว่าอย่างสมบูรณ์เมื่อราวๆ 8,750 ปีก่อน และอาศัยอยู่บนเทือกเขาแอนดีสตั้งแต่ตอนนั้นมา

 

 

ตัวเลขที่ออกมานี้แสดงให้เห็นว่าชาวเปรูน่าจะมีการแยกตัวเร็วกว่าที่เราเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้พอสมควรเลยด้วย

แม้ว่านี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการค้นพบว่ามนุษย์มีการปรับแต่ง DNA เพื่อให้เข้ากับลักษณะพื้นที่ที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่การค้นพบนี้ก็ช่วยให้เราเข้าใจถึงการปรับตัวของมนุษย์ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

 

ที่มา livesciencenewsbeezer

Comments

Leave a Reply