“คริสทัลล์นัคท์” เหตุการณ์ที่ปลุกปั่นความเกลียดชังชาวยิว ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

เชื่อว่าหากพูดถึงเหตุการณ์สังหารชาวยิวไม่ว่าใครก็คงนึกถึงการสังหารหมู่ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก่อนเป็นอย่างแรก ว่าแต่ทราบหรือไม่ว่าความเกลียดชังชาวยิวนั้น มันมีมาก่อนที่สงครามจะเกิดเสียอีก

โดยหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในช่วงนั้น ก็คือ “คริสทัลล์นัคท์” (Kristallnacht) หรือคืนกระจกแตก (The Night of Broken Glass) นั่นเอง

 

 

คริสทัลล์นัคท์เป็นเหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวยิวในวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 1938 เกือบๆ หนึ่งปีก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะเริ่มต้นขึ้น และส่งผลให้มีชาวยิวเสียชีวิตกว่า 91 ราย

จริงอยู่ว่าตัวเลขนี้อาจจะดูน้อยเมื่อเทียบกับความยิวที่เสียชีวิตในสงครามโลก แต่นี่ก็นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งของเยอรมนีเลยก็ว่าได้

 

 

เรื่องราวมันเกิดขึ้นเมื่อมีชาวยิวชื่อเฮอร์เชล กรินสปัน เขาลอบสังหารเจ้าหน้าที่การทูตของนาซี ในสถานทูตเยอรมันที่ประเทศฝรั่งเศส

แม้ไม่อาจฟันธงได้ว่าการกระทำของเขานั้นมาจากความโกรธแค้นที่นาซีปฏิบัติต่อชาวยิว หรือว่านี่เป็นเพียงแผนการของนโยบายทางเชื้อชาติของนาซีกันแน่ แต่การกระทำของเขาก็ทำให้มีคนเยอรมันจำนวนมากลุกขึ้นต่อต้านชาวยิว

 

 

ในวันนั้นมีการจลาจลที่เกิดขึ้นจากความเกลียดชังขึ้นทั่วท้องถนนของเยอรมนี มีคนจำนวนมากเข้าไปทำลาย บ้าน ร้านค้า และโบสถ์ของชาวยิว

ที่เหตุการณ์เลวร้ายถึงขั้นนี้นั้นเชื่อกันว่ามาจากการปลุกปั่นของทางพรรคนาซี เพราะมีการบันทึกไว้ว่า ไฮน์ริช มูลเลอร์หน่วยตำรวจลับของฮิตเลอร์ได้ทำการส่งโทรเลขไปห้ามตำรวจไม่ให้เข้าไปยุ่งกับการจลาจลของชาวเยอรมนี

 

 

นั่นทำให้ในเวลาเพียง 2 วัน 2 คืนเท่านั้นในเยอรมนีก็มีโบสถ์ของชาวยิวถูกเผาไปกว่า 1,000 แห่ง ร้านค้าชาวยิวถูกทำลายไปร่วม 7,500 ที่ ก่อนที่ชาวยิวอีกกว่า 30,000 รายถูกส่งเข้าค่ายกักกันเลยทีเดียว

แต่แม้ว่าการจลาจลจะจบลงไปแล้วก็ตาม แต่ความเกลียดชังชาวยิวในประเทศก็ยังไม่จบลง เพราะหลังจากคริสทัลล์นัคท์ไม่นาน รัฐบาลนาซีก็แบนชาวยิวออกจากสถานที่สาธารณะส่วนใหญ่ในเยอรมนี

 

 

และแน่นอนว่าความเกลียดชังนั้น ก็ลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกต่อไป

 

ที่มา britannicahistory

Comments

Leave a Reply