“การกระโจนสู่เสรีภาพ” ภาพของผู้ไขว่คว้าหาเสรีภาพ กับเรื่องราวที่น่าเศร้ากว่าที่เห็น

เป็นที่รู้กันว่าในช่วงสงครามเย็น มีคนมากมายที่พยายามจะแอบหนีออกจากเบอร์ลินตะวันออกของโซเวียตและปกครองระบบคอมมิวนิสต์ ไปยังเบอร์ลินตะวันตกที่ปกครองด้วยฝ่ายสัมพันธมิตร

แน่นอนว่าหลังจากที่มีการก่อสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้นมา การทำแบบนั้นก็ยากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทราบหรือไม่ว่าในช่วงต้นๆ ของความขัดแย้งนี้ การหนีออกจากเบอร์ลินตะวันออก มันเป็นเรื่องง่ายๆ เหมือนการ “การกระโจนสู่เสรีภาพ” เท่านั้น

 

 

นี่คือภาพของคอนราด ชูมานทหารยามวัย 19 ปี ของเยอรมันตะวันออก ในขณะที่เขาตัดสินใจกระโดดข้ามเขตแดนเบอร์ลินตะวันออกกับเบอร์ลินตะวันตกในปี 1961 และกลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

นี่เป็นการกระทำในสมัยที่เขตแดนเบอร์ลินยังมีเพียงแค่รั้วลวดหนามกั้นไว้ และเป็นช่วงเวลาที่ตัวกำแพงกำลังเริ่มสร้างได้เพียงแค่ 3 วัน

 

 

ถึงอย่างนั้นนี่ก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่คอนราดจะสามารถหนีข้ามฝั่งไปได้ ดังนั้นเมื่อเขาเห็นคนในทางเยอรมันตะวันตกตะโกนมาหาเขาแบบกึ่งๆ ท้าทายว่า “ข้ามมาสิ” คอนราดก็ตัดสินใจโดดข้ามฝั่งมันในตอนนั้นเลย

ภาพของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของชายผู้แสวงหาเสรีภาพหลังจากนั้น และได้รับรางวัลมากมายจากสื่อมวลชน  อย่างไรก็ตามสำหรับตัวคอนราดแล้ว การตัดสินใจในวันนั้นเป็นทั้งสิ่งที่ดี และความน่าอับอายในเวลาเดียวกัน

 

 

นั่นเพราะสำหรับคนที่เป็นทหารอย่างเขา การแปรพักตร์มันก็ไม่ต่างอะไรกับการขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ แถมเขายังรู้สึกไม่ดีต่อครอบครัวที่เขาทิ้งไว้ที่เยอรมันตะวันออกตลอดมา

คอนราดได้ไปอาศัยอยู่ที่บาวาเรียและสร้างครอบครัวใหม่หลังจากนั้น และกว่าที่เขาจะรู้สึกว่าตัวเองได้เป็นอิสระจริงๆ มันก็หลังจากที่กำแพงเบอร์ลินโดนถล่มในปี 1989

 

คอนราดและภาพของเขา 20 ปีหลังจากการกระโดดครั้งนั้น

 

น่าเศร้าที่เรื่องราวของคอนราดไม่ได้จบลงโดยดีสักเท่าไหร่ เพราะหลังจากที่สามารถกลับไปพบกลับครอบครัวอีกครั้งคอนราด ก็พบว่าไม่มีใครในบ้านอยากนับญาติกับเขาอีกต่อไปแล้ว

ท้ายที่สุดในวันที่ 20 มิถุนายน 1998 คอนราดที่ในตอนนั้นอายุได้ 56 ปี ก็ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ จบชีวิตของนายทหารผู้อยู่ในภาพ “การกระโจนสู่เสรีภาพ” แต่เพียงเท่านี้

 

 

ที่มา rarehistoricalphotos

Comments

Leave a Reply