ตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว บทเพลงเป็นหนึ่งในสื่อที่เข้าถึงจิตใจของผู้คนได้ดีที่สุด บางบทเพลงทำให้ผู้ฟังรู้สึกฮึกเหิม บางบทเพลงทำให้ผู้ฟังรู้สึกสนุก และบางบทเพลงทำให้ผู้ฟังรู้สึกมีความสุข
แต่ในบรรดาเพลงเหล่านั้นเองก็ยังมีบทเพลงที่สื่อถึงความรู้สึกด้านลบอยู่เช่นกัน แม้โดยมากแล้วจะเป็นความรู้สึก เหงา เศร้า หรืออกหัก แต่บางครั้งความรู้สึกด้านลบพวกนั้นก็เป็นอะไรที่รุนแรงมากๆ อย่าง “ความอยากตาย”
และเพลงที่ว่ากันว่าสื่อถึง “ความอยากตาย” ที่โด่งดังที่สุดก็คงไม่พ้น “Gloomy Sunday” นั่นเอง
คำเตือน : นี่คือบทเพลง Gloomy Sunday ของแท้จากปี 1932 โดยช่อง Historic Mysteries
Gloomy Sunday หรือ “วันอาทิตย์มืดมน” เป็นบทเพลงของ Rezső Seress นักเปียโนและนักแต่งเพลงชาวฮังการี ที่แต่งขึ้นเมื่อปี 1932
เพลงนี้ถูกเรียกด้วยชื่อเล่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “บทเพลงแห่งความตาย” “บทเพลงสังหาร” หรือ “บทเพลงฆ่าตัวตายแห่งฮังการี” จากข่าวลือที่ว่าใครก็ตามที่ฟังเพลงนี้จะต้องฆ่าตัวตาย
Rezső Seress เจ้าของเพลง Gloomy Sunday
เนื้อร้องของ Gloomy Sunday แท้จริงแล้วมาจากบทกลอนของ László Jávor โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับชายที่ขอให้คนรักที่ตายไปมาร่วมงานศพของตน และมีเนื้อหาสื่ออ้อมๆ ถึงการฆ่าตัวตายเพื่อไปพบกับคนรัก
Gloomy Sunday กลายเป็นเพลงที่มีชื่อเสียงในฐานะเพลงแห่งความตายเมื่อปี 1936 จากการที่มีคนฆ่าตัวตายอย่างน้อยๆ 18 คนจากฟังเพลงที่ว่า
โน๊ตเพลงของ Gloomy Sunday
ในจำนวนเหยื่อ มีบางคนที่ทิ้งจดหมายลาตายที่มีการอ้างอิงถึงเนื้อเพลง Gloomy Sunday เอาไว้ แถมว่ากันว่ามีเหยื่อหลายคนที่ตายทั้งๆ ที่กุมโน๊ตเพลงไว้เลยด้วย
อย่างไรก็ตามหากมองกันดีๆ ความน่ากลัวของ Gloomy Sunday อาจจะมาจากเหตุการณ์ “The Great Depression” หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกในช่วงปี 1929-1939 ก็เป็นได้
เพราะในช่วงนั้นมีประชาชนจำนวนมากที่ประสบกับปัญหาทางการเงินและการใช้ชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเหล่านั้นจะมีเหตุจูงใจที่จะฆ่าตัวตาย และ Gloomy Sunday ก็อาจจะเป็นเพียงเพลงที่เข้าไปกระตุ้นความรู้สึกเฉยๆ ก็ได้
เรื่องราวของบทเพลง Gloomy Sunday จบลงด้วยความเศร้าเพราะท้ายที่สุด Rezső Seress เจ้าของบทเพลงนี้ ก็ตัดสินใจกระโดดลงมาจากอพาร์ตเมนต์ จบชีวิตของตัวเองไปในวันที่ 11 มกราคม 1968 นั่นเอง
ที่มา historicmysteries, mentalfloss
Advertisement