นักวิทย์กล่าว รอยสักมัมมี่โบราณ 5,300 ปี แท้จริงแล้วอาจเป็นการ “ฝังเข็ม” เพื่อรักษา

เดิมทีแล้วเมื่อพูดถึงเหตุผลในการสักของคนสมัยโบราณ หลายๆ คนก็คงจะบอกว่าเป็นการกระทำเพื่อพิธีกรรมอะไรบางอย่าง คล้ายกับการที่คนไทยในอดีตสักยันต์ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้มีพลังอำนาจอาคมต่างๆ

แต่แล้วความคิดที่ว่าการสักนั้นเกิดขึ้นเพราะความเชื่อและพิธีกรรมเท่านั้นอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไปก็ได้ เพราะล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาบอกว่า รอยสักในอดีตนั้นอาจจะเป็นผลมาจากการรักษาก็เป็นได้

 

 

นี่เป็นผลมาจากการศึกษาร่างของ Ötzi มัมมี่เก่าแก่จากเมื่อ 5,300 ปีก่อน ที่มีการค้นพบเมื่อปี 1991 ในอิตาลี โดยบนร่างของมัมมี่เก่าแก่นี้มีรอยสักอยู่ 61 แห่ง

แต่ละแห่งล้วนเป็นรูปร่างง่ายๆ อย่างเส้นตรงหลายๆ ขีดหรือรูปเครื่องหมายบวกในบางจุด อย่างไรก็ตามรอยสักเหล่านี้กลับมีที่ไปที่มากว่าที่คิด

จากการตรวจสอบร่างของ Ötzi นักวิทยาศาสตร์พบว่าเขาเป็นโรคร้ายหลายชนิด และเคยได้รับการรักษาด้วยสมุนไพรกับวิธีการบางอย่างที่คล้ายคลึงกับการ “ฝังเข็ม” ในปัจจุบัน

 

 

พวกเขาเชื่อว่าการฝังเข็มเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดลวดลายบนร่างกายของ Ötzi เนื่องจากรอยสักที่พบนั้นนอกจากจะมีรูปร่างที่ค่อนข้าง “ธรรมดา” แล้ว ลวดลายส่วนมากยังอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับจุดฝังเข็มในปัจจุบันอีกด้วย

 

 

Albert Zink หัวหน้าสถาบันวิจัยเพื่อการศึกษามัมมี่ในโบลซาโน ประเทศอิตาลีกล่าวว่า

มีความเป็นไปได้ว่ารอยสักที่อกจะมาจากการรักษาอาการปวดท้อง ซึ่งแม้ว่าเราจะเคยเชื่อว่าการฝังเข็มเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศจีนเมื่อ 2,200 ปีก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเป็นไปได้ที่ว่าการฝังเข็มจะมีมาก่อนหน้านั้น

นอกจากนี้ในตอนที่เสียชีวิตในกระเพาะของ Ötzi ยังมีเห็ดสายพันธุ์ Birch Polypore อยู่ด้วย ซึ่งเห็นสายพันธุ์นี้มีชื่อเสียงเรื่องการลดไข้ และลดอาการผื่นคัน

นั่นทำให้แนวคิดที่ว่ามัมมี่ร่างนี้เป็นของชายที่ได้รับการรักษาหลากหลายรูปแบบมีน้ำหนักมากพอสมควร

 

 

แม้ว่านี่จะเป็นแนวคิดที่ยังต้องการหลักฐานยืนยันอีกมาก แต่นี่ก็เป็นแนวคิดที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ค่อนข้างสูงนั่นเอง

 

ที่มา livesciencedailymailiflscience

Comments

Leave a Reply