เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2018 ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยาแห่งชาติในกัวเตมาลาได้ออกมาประกาศการค้นพบแท่นบูชาหินสลักอายุกว่า 1,500 ปีในซากเมืองมายาโบราณ La Corona ที่อยู่ลึกเข้าไปในป่าทางตอนเหนือของประเทศกัวเตมาลา
มันเป็นการค้นพบวัตถุโบราณที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในซากเมืองแห่งนี้ และเชื่อว่ามาจากยุคคลาสสิกของเผ่ามายา ซึ่งอยู่ในช่วงปีคริสต์ศักราชที่ 250 – 900
จากการตรวจสอบรูปสลักบนแท่นบูชาที่พบ ดูเหมือนว่าแท่นบูชาอันนี้จะมีการบันทึกเรื่องราวของอำนาจแห่งราชวงศ์ Kaanul ซึ่งปกครองที่พื้นที่ในบริเวณนั้นมากเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี
Marcello Canuto ผู้อำนวยการร่วมของโครงการโบราณคดีในพื้นที่ La Corona เล่าว่า การค้นพบในครั้งนี้จะช่วยให้เราเข้าใจราชาของพื้นที่ La Corona ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความเกี่ยวข้องทางการเมืองกับทาง Kaanul
ราชาคนดังกล่าวจะมีชื่อว่า Chak Took Ich’aak ซึ่งจากภาพที่สลักไว้ในแท่นบูชา เขากำลังถืองูสองหัวที่มีเทพโผล่ออกมาเอาไว้
ดูเหมือนว่าการใช้งูเหมือนสื่อในภาพจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะราชาแห่ง Kaanul ก็ถูกรู้จักกันในฐานะราชาแห่งงูเช่นกัน นอกจากนี้บนแท่นบูชายังมีอักขระปฏิทินมายาสลักไว้ด้วย โดยหากเทียบกับปฏิทินแบบปัจจุบัน เวลาที่สลักไว้จะเป็นวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 544
เป็นไปได้ว่าแท่นบูชาที่พบนั้นจะบันทึกเรื่องราวการขึ้นเป็นใหญ่ของราชวงศ์ Kaanul เอาไว้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโครงการโบราณคดีในพื้นที่ La Corona ยังพยายามทำการตรวจสอบแท่นบูชาที่ว่าอยู่ โดยหวังเป็นอย่างมากว่าพวกเขาจะสามารถค้นพบความลับใหม่ๆ ของราชวงศ์ Kaanul และเผ่ามายาเพิ่มขึ้นจากที่เคยทราบกัน
ที่มา livescience, foxnews, sci-news
Advertisement