พบครกหิน 13,000 ปีที่ใช้ “หมักเบียร์” เชื่อมนุษย์ทำเบียร์เป็นก่อนการเพาะปลูกเสียอีก

เมื่อประมาณช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โลกของเราได้พบกับหลักฐานโดยตรงของการมีอยู่ของเบียร์ที่เก่าแก่กว่า 2,500 ปีเป็นครั้งแรกจากเทคโนโลยีใหม่ของเหล่านักโบราณคดี (อ่านข่าวเก่าได้ที่นี่ พบหลักฐานโดยตรงของการมีอยู่ของเบียร์ เก่าแก่กว่า 2,500 ปี จากยุคเมโสโปเตเมีย)

แต่แล้วเพียงแค่ประมาณหนึ่งเดือนหลังจากนั้น โลกก็ได้พบกับการค้นพบที่สำคัญอีกครั้ง เพราะล่าสุดนี้เองมีการค้นพบครกหินเก่าแก่อายุ 13,000 ปีที่ใช้ในการหมักเบียร์ในอดีตนั่นเอง

 

 

นี่เป็นการค้นพบที่เกิดขึ้นในถ้ำราคีเฟต ของอิสราเอล โดยร่องรอยที่หลงเหลืออยู่บนครกหินทำให้เราทราบว่า มนุษย์โบราณสามารถหมักเบียร์ได้นานกว่าที่เราเคยคาดไว้เป็นพันปีเลยทีเดียว เพราะหลักฐานในการหมักเบียร์ที่พบนั้น มีอายุมากกว่าหลักฐานการเพาะปลูกที่เก่าแก่ที่สุดที่มีอายุ 11,000 ปีเสียอีก

โดยหากอ้างอิงจากงานวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแห่งสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยไฮฟาของอิสราเอล การหมักเบียร์ในครกหินน่าจะเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์โบราณที่อาศัยอยู่ในช่วงยุคหินเพลิโอะลีธอิคกับยุคนีโอะลีธอิคอย่างชาว “นาทูเฟียน” เผ่าพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนนั่นเอง

 

 

ชาวนาทูเฟียนเชื่อกันว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีมากในสมัยนั้น เผ่าพันธุ์นี้มีเครื่องมือที่ทำจากหินเหล็กไฟ (Flint) กระดูกสัตว์ ถ้วย หรือแม้กระทั่งครกหิน พวกเขาดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ แถมยังรู้จักเลือกเก็บของป่าที่ใช้ทำเบียร์ได้อีกด้วย

เป็นไปได้ว่าการหมักเบียร์นั้นอาจจะเกิดขึ้นเพื่อการถนอมอาหารเฉยๆ หรือทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ โดยการนำธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต พืชตระกูลถั่ว และพืชตระกูลเส้นใย มาตำและหมักในครกหินนั่นเอง

 

 

และด้วยความที่หลักฐานการมีอยู่ของเบียร์มีมาก่อนการเพาะปลูกนี้เอง ทำให้มีทฤษฎีที่ว่าเหตุผลที่มนุษย์เริ่มเพาะปลูก อาจจะมาจากความต้องการธัญพืชเพื่อนำไปหมักเบียร์ก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง คงต้องบอกว่าที่เรามีการเกษตรแบบทุกวันนี้ได้ ก็คงต้องขอบคุณการมีอยู่ของคอเบียร์ในสมัยก่อนนั่นเอง

 

ที่มา newhistoriantimesofisraelsciencedaily และ bbc

Comments

Leave a Reply