นักวิทย์ฯ คาด “นกยักษ์โบราณ” อาจอยู่ร่วมกับมนุษย์มานานกว่าที่คิดและสูญพันธุ์เพราะโดนล่า

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ตั้งแต่อดีตมีสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะสัตว์ที่เคยปกครองโลกอย่างไดโนเสาร์ หรือเจ้าช้างมีขนอย่างแมมมอธ และล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์ก็พบกับความเป็นไปได้อย่างหนึ่งจากการศึกษาฟอสซิลนกที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก นั่นก็คือนกชนิดนี้อาจจะสูญพันธุ์ไปด้วยน้ำมือมนุษย์เราเอง

 

 

นกจำพวกนี้มีชื่อเรียกว่า “นกช้าง” โดยฟอสซิลที่ถูกค้นพบนั้นเป็นของสายพันธุ์ Aepyornis และ Mullerornis ถูกพบที่บึงในมาดากัสการ์ ทางตะวันออกของแอฟริกา

มันเป็นนกที่เชื่อกันว่ามีส่วนสูงมากถึง 3 เมตร และหนักราวๆ ครึ่งตัน และจากการวิเคราะห์เรดิโอคาร์บอนของฟอสซิลที่พบ เจ้านกช้างน่าจะมีชีวิตอยู่ที่มาดากัสการ์มาอย่างน้อยๆ ตั้งแต่เมื่อ 10,500 ปีก่อน

 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของการค้นพบฟอสซิลในครั้งนี้ อยู่ที่ร่องรอยการตัดและสับกระดูกต่างหาก เพราะร่องรอยเหล่านี้บอกให้เราทราบว่า มนุษย์ในสมัยโบราณมีการออกล่านกชนิดนี้เพื่อเป็นอาหารนั่นเอง

 

บนฟอสซิลที่พบมีร่องรอยการถูกสับและตัด ด้วยเครื่องมือที่มีความคม และขนาดใหญ่

 

การค้นพบที่ว่าทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานที่ว่านกช้างนั้นอาจจะสูญพันธุ์ด้วยน้ำมือมนุษย์ขึ้นมา อย่างไรก็ตามเรื่องในครั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะฟันธงแต่อย่างใด

เรื่องเดียวที่นักวิทยาศาสตร์สามารถฟันธงได้คือมนุษย์เราอยู่กับนกชนิดนี้มานานกว่าที่คิด เพราะการที่มีรอยตัดอยู่บนกระดูกที่พบ ก็ทำให้เราทราบได้ว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ในมาดากัสการ์มาอย่างน้อยๆ 10,500 ปีแล้ว ซึ่งผิดไปจากหลักฐานก่อนๆ ที่เคยบอกว่ามนุษย์น่าจะมาถึงมาดากัสการ์เมื่อประมาณ 2,400-4,000 ปีก่อนเท่านั้นเอง

 

รอยตัดบนฟอสซิลที่พบ เชื่อกันว่าเกิดขึ้นจากการตัดนิ้วเท้าของนกช้างออก

 

นั่นหมายความว่ามนุษย์เราอยู่กับนกช้างมานานกว่า 9,000 ปีเลยทีเดียว เพราะเจ้านกสายพันธุ์นี้เพิ่งจะสูญพันธุ์ไปในช่วงเวลาไม่ถึง 1,000 ปีก่อนนี้เท่านั้น

และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทฤษฎีนกช้างสูญพันธุ์เพราะมนุษย์ยังต้องการหลักฐานเพิ่มเติม เพราะการสูญพันธุ์จากการล่า ไม่น่าจะใช้เวลานานถึง 9,000 ปีนั่นเอง

 

ที่มา livesciencefoxnews และ msn

Comments

Leave a Reply