เปิด “คดีล่าแม่มดแห่งซาเลม” ตัวอย่างความเลวร้ายจากความเชื่อและการกล่าวหาผู้อื่น

หากพูดถึงการล่าแม่มดที่มีชื่อเสียงที่สุดในอดีต เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อของคดีล่าแม่มดแห่งซาเลมกันมาก่อนก็เป็นได้

นี่คือคดีล่าแม่มดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนปี 1692 ถึง เดือนพฤษภาคมปี 1693 ที่หมู่บ้านซาเลม รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา โดยเป็นการกล่าวหาเด็กๆ  ในหมู่บ้านว่าถูกสิงโดยปีศาจ และเหล่าผู้หญิงในหมู่บ้านเป็นแม่มดนั่นเอง

 

 

ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของการล่าแม่มดในครั้งนี้มาจากการที่ เด็กหญิงสองคนในหมู่บ้าน อบิเกล วิลเลียม วัย 11 ขวบ และอลิซาเบธ แพร์ริส หรือ “เบ็ตตี้” วัย 9 ขวบ เริ่มแสดงอาการประหลาดอย่างการกรีดร้องโวยวาย และบิดไปมาอย่างรุนแรงน่าหวาดกลัว ก่อนที่อาการจะค่อยๆ ลามไปในหมู่เด็กสาวในหมู่บ้านทีละคน

ในปัจจุบันอาการที่ว่านี้จะได้รับการสันนิษฐานว่าเกิดจากเชื้อรากลุ่มเออร์กอตอัลคาลอยด์  ซึ่งมักปนเปื้อนมาในธัญพืชที่เก็บไว้โดยเฉพาะข้าวไรย์ โดยเชื้อราชนิดนี้มักทำให้เกิดพิษหลอนประสาท ชักเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุกและเนื้อตาย

 

 

อย่างไรก็ตามในสมัยนั้น บาทหลวงที่เข้ามาในหมู่บ้านกลับประกาศว่าอาการของเด็กๆ นั้นเป็นการกระทำของแม่มด จนทำให้เกิดการกล่าวหาคนในหมู่บ้านทั้งโดยบาทหลวง เด็กๆ หรือแม้กระทั่งชาวบ้านด้วยกันเอง จนทำให้ในที่สุดก็มีคนในหมู่บ้านกว่า 60 คนโดนจับขัง

การพิจารณาคดีและพิพากษาเริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้น โชคร้ายที่ศาลในตอนนั้นมีความอยุติธรรมค่อนข้างสูง บวกกับการซัดทอดคนอื่นไปมาของคนในหมู่บ้านก็ทำให้มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ถูกแขวนคอในแต่ละสัปดาห์ จนถึงขนาดว่ามีคำกล่าวว่าแท่นแขวนคอนั้นไม่เคยว่างจากศพเลยทีเดียว

 

 

กว่าที่ความบริสุทธิ์ของคนในหมู่จะได้รับการยอมรับจริงๆ ก็หลังจากนั้นนานพอสมควร เมื่อในปี 1697 ทางศาลแมสซาชูเซตส์ได้ออกมายอมรับว่าคดีที่หมู่บ้านซาเรมมีการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม และแอนน์ พัตแนม หนึ่งในเด็กๆ ของหมู่บ้านซาเรมสารภาพว่าตนเองในวัยเด็กโกหกและใส่ความคนในหมู่บ้าน ในปี 1706 นั่นเอง

และในที่สุดเมื่อปี 1711 รัฐบาลแมสซาชูเซตส์ก็ได้ผ่านกฎหมายคืนความบริสุทธิ์แก่คนในหมู่บ้านซาเรม ยกเลิกคำกล่าวหาที่ว่าผู้หญิงในหมู่บ้านเป็นแม่มดไปด้วยประการฉะนี้

 

 

ที่มา history, gypzyworldsmithsonianmagbritannica

Comments

Leave a Reply