พบมัมมี่ลูกม้าอายุราว 30,000-40,000 ปี ในเพอร์มาฟอส สมบูรณ์มากจนเห็นขนจมูกได้

ว่ากันว่าในยุคน้ำแข็ง โลกของเราได้เก็บหลักฐานของสิ่งมีชีวิตไว้ใต้ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Permafrost) เป็นจำนวนมาก และสิ่งที่ถูกเก็บไว้เหล่านั้น ก็เป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบมากอีกด้วย

และล่าสุดนี้เอง ที่ไซบีเรีย ประเทศรัสเซียก็ได้มีการขุดพบมัมมี่ของลูกม้าอายุกว่า 30,000-40,000 ปี ขึ้นมาจากชั้นดินเยือกแข็งคงตัวลึก 100 เมตร

 

 

นี่เป็นร่างของลูกม้าโบราณที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดร่างหนึ่งที่เคยมีการพบเลยก็ว่าได้ ทั้งผิวหนัง กีบ และหางเรียกได้ว่ายังคงอยู่ในสภาพที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ถึงขั้นที่ว่านักวิทยาศาสตร์ยังสามารถเห็นขนจมูกของเจ้ามาน้อยได้เลยทีเดียว

“นี่เป็นครั้งแรกในโลกที่มีการพบม้าโบราณที่ยังเด็ก และเก็บรักษามาอย่างสมบูรณ์ขนาดนี้” Semyon Grigoryev จากพิพิธภัณฑ์แมมมอธ ในเมืองยาค็อตสค์กล่าว

 

 

จริงอยู่ว่าม้าเป็นสัตว์ที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน แต่ลูกม้าที่พบนั้นมาจากสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 30,000-40,000 ปีก่อน ซึ่งมีชื่อว่า “Equus caballus lenensis” หรือ “ม้าลีนา”

มันเป็นลูกม้าที่มีความสูง 98 เซนติเมตร และเชื่อกันว่าตายไปเมื่ออายุได้เพียงสองเดือนเท่านั้น โดยทางนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเจ้าม้าน่าจะตกลงไปในน้ำที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็ง ก่อนจะขาดอากาศหายใจจนตาย เนื่องจากไม่มีบาดแผลที่มองเห็นได้จากบนร่างที่พบ

 

 

ในปัจจุบันทางนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเก็บตัวอย่างของขนและชิ้นเนื้อไปทำการทดลองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการตรวจสอบลำไส้ของเจ้าม้าที่พบ เพื่อหาว่ามันทานอะไรเป็นอาหารในสมัยที่ยังมีชีวิต โดยการทดลองนี้จะนำไปสู่ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชีวิตก่อนตายของเจ้าลูกม้าที่พบได้นั่นเอง

 

ที่มา thesunsciencealertcnet และ livescience

Comments

Leave a Reply