Kola Superdeep Borehole โครงการสำรวจขุดเจาะผิวโลก ลึกที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้…

การออกสำรวจต่างๆ นอกจากจะเป็นการเรียนรู้ในสิ่งที่เรายังไม่ค้นพบแล้ว ก็ยังเป็นอีกหนึ่งการทดลองที่ท้าทายความสามารถและขีดจำกัดของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาด้วย

เมื่อพูดถึงการสำรวจที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุด ส่วนมากจะเน้นไปยังนอกโลก อวกาศ ดาวเคราะห์ต่างๆ ด้วยความกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุดที่รอคอยให้มนุษย์ออกไปค้นพบ แต่หารู้ไม่ว่าบนโลกที่เราอยู่นั้น ก็ยังไม่มีใครรู้เลยว่าใต้ผิวดินที่ลึกลงไปจะมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง?

 

อาคารขุดเจาะของโครงการ Kola Superdeep Borehole (KSDB)

 

สิ่งที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ก็คือ Kola Superdeep Borehole (KSDB) หนึ่งในโครงการสำรวจทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่เลือกใช้การขุดเจาะลึกลงสู่ใต้ผิวโลก อันเป็นผลงานของสหภาพโซเวียตในอดีต โดยตั้งเป้าหมายในการสำรวจไว้ก็คือ “พยายามเจาะให้ลึกมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้”

 

 

โครงการนี้ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1962 และเลือกสถานที่ขุดเจาะในปี ค.ศ. 1965 บริเวณคาบสมุทร Kola ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหภาพโซเวียต ห่างจากเมือง Zapolyarny ไปทางตะวันตกเป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร และการเจาะได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1970

 

อาคารโครงการขุดเจาะในปี 1974 (ที่มา)

 

ก่อนหน้าที่จะทำการขุดเจาะนั้น นักวิทยาศาสตร์ต่างต่างคาดการณ์ว่าจะพบชั้นรอยต่อระหว่างหินแกรนิตและหินบะซอลต์ แต่พอขุดจริงๆ กลับไม่พบหินบะซอลต์อย่างที่คิด กลับพบเป็นน้ำจำนวนมหาศาลที่แทรกอยู่ระหว่างรอยต่อของหิน และเป็นน้ำที่ไม่สามารถซึมผ่านออกมาบนผิวโลกได้เลยเพราะด้วยชั้นหินที่หนามากๆ

 

 

การขุดเจาะเต็มไปด้วยความท้าทายขีดจำกัดทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีเครื่องขุดเจาะที่ถูกสร้างและนำมาใช้ได้แก่ Uralmash-4E และ Uralmash-15000 โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ความลึก 15,000 เมตร

 

ภาพการเฉลิมฉลองความสำเร็จในระดับความลึก 12,000 เมตร ตั้งเป้าไว้ที่ 15,000 เมตร

 

ระหว่างการขุดเจาะดำเนินไปถึงปี ค.ศ. 1983 สามารถขุดเจาะได้ลึกในระดับ 12,000 เมตร และได้หยุดพักเพื่อเฉลิมฉลองไป 1 ปี กลับมาดำเนินการใหม่ในปี ค.ศ. 1984

จนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1989 พวกเขาสามารถไปถึงในระดับ 12,262 เมตร โดยคาดการณ์ว่าจะไปถึงความลึก 13,500 เมตร ภายในสิ้นปีค.ศ. 1990 และไปถึงระดับ 15,000 เมตรในปีค.ศ. 1993

 

สภาพของหัวเจาะที่ทำการขุด

 

แต่แล้วอุปสรรคก็เกิดขึ้น เมื่อบริเวณและความลึกที่ทำการเจาะมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้จาก 100 องศาเซลเซียสเป็น 180 องศาเซลเซียส

ทางทีมขุดเจาะจึงทำการลงความเห็นว่าไม่สามารถเจาะลงไปลึกกว่านี้ได้อีกแล้ว คาดว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ หากจะเจาะไปถึงระดับความลึก 15,000 เมตร อาจจะต้องเจอกับอุณหภูมิที่สูงถึง 300 องศาเซลเซียส และหัวเจาะจะไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป

จนสุดท้าย พวกเขาต้องยุติการขุดเจาะในปีค.ศ. 1992 รวมเวลาขุดเจาะทั้งสิ้น 22 ปี ด้วยความลึกในระดับ 12,262 เมตรเท่านั้น (12.26 กิโลเมตร)

 

บริเวณแท่นเจาะ

 

สำหรับสิ่งที่ได้มาระหว่างการขุดเจาะนั้น ทำให้รับรู้ได้ว่าหลุมที่ขุดเจาะทำได้เพียงแค่ 1 ส่วน 3 ของแผ่นทวีปเท่านั้นจากความหนาทั้งหมดที่คาดการณ์ไว้ 35 กิโลเมตร

มีการค้นพบหินที่มีอายุมากถึง 2.7 พันล้านปีอยู่ที่ก้นหลุม อีกทั้งยังพบฟอสซิลที่มีอายุมากกว่านั้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยที่ยังคงสภาพอยู่ได้แม้ว่าอุณหภูมิและความดันในระดับความลึกขนาดนี้ น่าจะทำลายจนหมดสภาพไม่หลงเหลือแล้ว

 

สภาพของหลุมเจาะที่ลึกที่สุดในโลกในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้โครงการขุดเจาะ Kola Superdeep Borehole ก็ได้กลายมาเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาเรื่องธรณีฟิสิกส์อย่างกว้างขวาง

มีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบทางฟิสิกส์และเคมีของเปลือกโลกในระดับดังกล่าว และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกชั้นบนไปสู่เปลือกโลกชั้นล่าง เพื่อนำไปสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการศึกษาด้านธรณีฟิสิกส์ในระดับลึก

 

ถูกปิดปากหลุมในปี 2006

 

ในปัจจุบันโครงการนี้จะไม่ใช่หลุมเจาะที่ยาวที่สุดในโลกแล้ว เพราะมีหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียมหลายแห่งที่มีความยาวมากกว่าเกิดขึ้นมากมาย

 

อาคารของโครงการขุดเจาะถูกทุบทำลายลงในปี 2008

 

แต่ Kola Superdeep Borehole ก็ยังคงเป็นหลุมเจาะแนวดิ่งที่ลึกที่สุดจากบนผิวโลก ที่เกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ เพราะส่วนใหญ่การทำหลุมเจาะปิโตรเลียมจะเป็นในแนวทแยง แม้จะมีความยาวมากกว่าแต่ความลึกจากผิวโลกก็ยังคงน้อยกว่า

 

 

ที่มา: darriuss, englishrussia, slatezmesciencedamninteresting, boredomtherapy, atlasobscura


Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply