คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเป็นชายที่มีชื่อเสียงในการ “ค้นพบ” ทวีปอเมริกา จากการล่องเรือออกไปทางตะวันตก (แม้ว่าแท้จริงแล้วจะมีหลักฐานการค้นพบทวีปอเมริกามาก่อนหน้าแล้วก็ตาม โดยเชื่อกันว่าเป็นการค้นพบโดยชาวไวกิ้งนั่นเอง)
เดิมทีแล้วนี่เป็นการเดินทางที่เกิดขึ่นเพื่อที่จะตามหาเส้นทางสายใหม่ไปยังทวีปเอเชีย จากเดิมที่ต้องมีการล่องเรือเลาะไปทางทิศตะวันออก ว่าแต่เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมแทนที่จะเดินทางไปตามเส้นทางเดิมโคลัมบัสจึงเลือกที่จะล่องเรือไปทางทิศตะวันตก
จากการศึกษาของนักโบราณคดี เชื่อกันว่าความคิดการล่องเรือไปยังทิศตะวันตกของโคลัมบัสนั้น มาจากแผนที่ฉบับหนึ่งในปี 1491 สมัยที่ผู้คนยังเชื่อกันฝังใจว่าโลกใบนี้แบน
แผนที่ต้นฉบับในปี 1491
มันเป็นแผนที่ที่ยังไม่มีทวีปอเมริกา และค่อนข้างแปลกไปจากแผนที่โลกที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันมาก อย่างไรก็ตามเมื่อมองจากแผนที่ที่ว่านี้แล้ว โคลัมบัสที่เชื่อว่าโลกกลมก็มองเห็นหนทางใหม่ที่เขาเชื่อว่าใกล้กว่าเดิม ในการเดินทางไปยัง “อินเดียตะวันออก” (ซึ่งก็คือแถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง)
แผนที่อันนี้เชื่อกันว่าเขียนขึ้นโดยผู้ทำแผนที่ชาวเยอรมันนาม Henricus Martellus จากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี โดยเป็นแผนที่ขนาด 1.2 X 2 เมตร และเก่ามากจนมองแทบไม่ออกในปัจจุบัน โชคดีมากที่ล่าสุดนักวิทยาศาตร์สามารถถ่ายภาพอัลตราไวโอเลตของแผนที่ดังกล่าวไว้ได้ เราจึงสามารถเห็นแผนที่นี้ได้ชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง
แผนที่ของ Henricus Martellus ที่ได้รับการฟื้นฟูด้วยเทคโนโลยีภาพอัลตราไวโอเลต
แผนที่ฉบับนี้ มีประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่มุมขวาบนของแผนที่และมีความแปลกกว่าแผนที่อื่นๆ ในสมัยนั้นตรงที่ไม่มีภาพของปีศาจแห่งท้องทะเลถูกวาดเอาไว้ ซึ่งน่าจะมาจากการลดต้นทุนของแผนที่เพื่อให้นักเดินเรื่อที่มีต้นทุนต่ำสามารถซื้อได้นั่นเอง
ว่ากันว่าจากความสำเร็จของโคลัมบัส แผนที่ฉบับนี้ก็ได้กลายเป็นต้นแบบของแผนที่จำนวนมาก อย่างเช่นแผนที่ของ Martin Waldseemüller ในปี 1507 ซึ่งเป็นแผนที่อันแรกที่มีการระบุทวีปอเมริกาเอาไว้นั่นเอง
แผนที่ของ Martin Waldseemüller
ที่มา livescience, history
Advertisement