เคยได้ยินเรื่อง “อุ้งมือลิง” กันไหม? ว่ากันว่ามีอุ้งมือของลิงจากสมัยโบราณ ที่มีเวทมนตร์สามารถทำให้คำขอเป็นจริงได้ แต่จงระวังคำขอของพวกคุณไว้ให้ดี เพราะเจ้าอุ้งมือนี้ จะทำให้คำขอที่ว่าเป็นจริงโดยไม่สนวิธีการใดๆ
หากคุณขอความร่ำรวย เงินที่ได้มาก็อาจเป็นเงินประกันชีวิตจากความตายของคนที่คุณรัก หากขอความเป็นอมตะคุณก็อาจจะถูกแช่อยู่ในน้ำแข็งทั้งเป็นไปตลอดกาล และอย่าหวังว่าจะสามารถให้เล่ห์กลใดๆ เพื่อบิดเบือนคำขอ เพราะไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหน คนเราก็ไม่สามารถควบคุมเวทมนตร์ได้อยู่ดี
อุ้งมือลิงว่ากันว่ามีที่มาจากประเทศอินเดีย แม้ว่าในบางครั้งก็มีแนวคิดที่ว่าอุ้งมือลิงซึ่งมีลักษณะคล้ายมัมมี่เหล่านี้น่าจะมาจากอียิปต์มากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นกลับไม่มีหลักฐานใดๆ พูดถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับอุ้งมือลิงในสองประเทศนี้เลย
เอาเข้าจริงๆ ต้องบอกว่าไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับอุ้งมือลิงที่ทำให้คำขอเป็นจริงเลยจนกระทั่งในปี 1902 ต่างหาก
อุ้งมือลิงที่ทำให้คำขอเป็นจริงปรากฏออกมาแบบเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ในหนังสือของ W.W. Jacobs ที่มีชื่อว่า “The Monkey’s Paw” ซึ่งเป็นเรื่องราวของครอบครัวไวท์ที่ได้รับอุ้งมือลิงมาจากเพื่อนที่เป็นทหารอยู่ในอินเดีย และต้องพบกับเรื่องเลวร้ายจากคำขอของพวกเขา
The Monkey’s Paw เป็นเรื่องสั้นสยองขวัญที่มีสามองก์จบ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตะเกียงวิเศษในอาหรับราตรี (และอาจจะได้แรงบันดาลใจจาก The Hand ของ Guy de Maupassant ในปี 1883 เช่นกัน)
เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยก่อน จนถูกตีพิมพ์ในหลายๆ ภาษาทั่วโลก มีการนำไปทำเป็นภาพยนตร์ และละครเวทีอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีการถูกนำไปดัดแปลงในงานเขียนอื่นๆ ตลอดช่วงเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา
จะบอกว่าจุดเริ่มต้นของตำนานอุ้งมือลิงมาจากเรื่องสั้นของ W.W. Jacobs เช่นนั้นเหรอ?
คำตอบคือมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะตำนานเรื่องเล่าของอุ้งมือลิง มีหลายๆ เรื่องที่คล้ายคลึงกับ The Monkey’s Paw มาก อีกทั้งการอ้างถึงอุ้งมือลิงส่วนมากก็มักจะออกมาหลังจากปี 1902 ที่ The Monkey’s Paw ตีพิมพ์อีกด้วย
ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสที่ตัวนักเขียนจะได้ยินเรื่องอุ้งมือลิงมาจากที่อื่นอีกที แล้วจึงนำมาเขียนเป็นนิยาย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงตำนานของอุ้งมือลิงแท้จริงแล้วมาจากไหน เราก็จะไม่อาจทราบได้เลย
อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่พวกเราทราบ นั่นคือหากพบกับอะไรก็ตามที่บอกว่าทำให้คำขอเป็นจริงได้
“จงระวังคำขอไว้ให้ดี”
ที่มา americanliterature, wikipedia, e2bn
Advertisement