ชมหลุมฝังศพแปดเหลี่ยมอายุกว่า 700 ปี ที่เก็บภาพชีวิตคนจีนในสมัยราชวงศ์หยวนไว้

เมื่อเร็วๆ นี้ที่เมืองหยางเชียน มณฑลชานซี ประเทศจีนได้มีการขุดพบสุสานทางประวัติศาสตร์รูปร่างแปดเหลี่ยม ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุกว่า 700 ปีของประเทศจีนในยามที่ถูกปกครองโดยราชวงศ์หยวน หรือชนเผ่ามองโกล

 

 

มันเป็นสุสานแปดเหลี่ยมที่มีหลังคาทรงพีระมิด ซึ่งประดับไปด้วยรูปของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว และที่ผนังทั้งแปดด้านก็มีการประดับไว้ด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม

 

 

แม้ว่าในสุสานจะไม่มีโครงกระดูกอยู่ก็ตาม แต่จากภาพบนผนังก็ทำให้เชื่อกันว่า นี่เป็นสุสานของสามีภรรยาคู่หนึ่ง หรือไม่ก็ของลูกชายของพวกเขา และจากขนาดของสุสานบวกกับจำนวนคนรับใช้ในภาพ เชื่อกันว่าเจ้าของสุสานน่าจะเป็นผู้มีฐานะพอสมควร

 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญในการค้นพบครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ที่ตัวสุสานเอง แต่เป็นภาพวาดการใช้ชีวิตของคนในยุคนั้นที่อยู่บนกำแพงมากกว่า

 

 

จากการตรวจสอบของนักประวัติศาสตร์ ดูเหมือนว่าภาพวาดหลายภาพที่ในสุสานจะเป็นภาพของผู้คนที่แต่งตัวแบบชาวมองโกล ซึ่งเป็นลักษณะของประเทศจีนในยุคสมัยของราชวงศ์หยวน

 

 

นี่เป็นการแต่งกายที่เกิดขึ้น จากคำสั่งของทางราชวังในปี 1314 เพื่อเป็นการการแบ่งแยกเชื้อชาติ โดยชาวจีนจะใส่ชุดคอกลม และหมวกพับ ส่วนชาวมองโกลเลียจะใส่ชุดคล้ายแจ็คเก็ตยาวกับหมวกที่มีสี่ปีก

 

 

นั่นทำให้ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของคนจีนในสมัยที่ถูกปกครองโดยชนเผ่ามองโกลได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการชงชา เสิร์ฟอาหาร ดูแลม้า การใช้งานอูฐในการขนส่ง หรือการเล่นดนตรีต่างๆ

 

 

นอกจากนี้ภาพอื่นๆ บนผนังยังเป็นภาพเกี่ยวกับเรื่องเล่าโบราณของประเทศจีน อย่างเรื่อง Guo Ju ที่เกี่ยวข้องกับสามี-ภรรยาที่คิดจะฝังลูกชาย เพื่อให้มีเงินพอดูแลแม่ของสามี แต่สุดท้ายกลับขุดพบเงินทองของมีค่าทำให้ไม่ต้องฝังลูก

 

 

และเรื่องของ Yuan Jue ครอบครัวที่พยายามจะเอาชีวิตรอดจากโรคร้าย พ่อของ Jue จึงตัดสินใจ จะพาคุณปู่ไปทิ้งให้ตายในป่า แต่ถูก Jue ห้ามไว้ก่อน โดยบอกว่าหากพ่อพาปู่ไปทิ้ง เมื่อโตขึ้นตัวเองก็จะพาพ่อไปทิ้งบ้าง จะสังเกตได้ว่าทั้งสองเรื่องล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความตาย แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิตไปด้วย

 

 

จริงอยู่ว่าการค้นพบในครั้งนี้จะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์หน้าใหม่แต่อย่างใด แต่การค้นพบนี้ก็ช่วยยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูลของสมัยราชวงศ์หยวนของกุบไลข่านได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

 

 

ที่มา livescience และ archaeology

Comments

Leave a Reply