หากคุณรู้สึกรำคาญเสียงยิบย่อย นั่นอาจเป็นอาการของ ‘โรค’ ที่คุณไม่ได้เป็นคนเดียว

อารมณ์โกรธหรือความรู้สึกหงุดหงิดสามารถเกิดขึ้นได้เวลาที่เรารับรู้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ชอบ แต่บางครั้งอารมณ์ในด้านลบนี้อาจเกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัวมาก่อน ซึ่งนั่นอาจหมายความว่าเรากำลังเป็นโรค Misophonia หรือว่า โรคเกลียดเสียง อยู่ก็ได้

 

 

Misophonia มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคดังกล่าวสังเกตง่ายๆ คือ เรามักจะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจกับเสียงต่างๆ อย่างเช่น เสียงจาม ไอ เสียงเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือเสียงที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่นการกดแป้นคีย์บอร์ด เสียงเหล่านั้นมักจะไม่ได้เป็นปัญหากับคนอื่น แต่เรากลับรู้สึกว่าอยากจะเข้าไปทำลายต้นกำเนิดเสียงเหลือเกิน อาจแสดงให้เห็นแล้วว่าเรากำลังเผชิญกับโรคเกลียดเสียง

แต่หากหลายๆ คนรับรู้ว่าตัวเองไม่ได้มีอาการของโรคนี้ แต่อยากจะรู้ว่าความรู้สึกของคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร ให้ลองคิดถึงเสียงที่ทำให้เราแสบแก้วหู เช่น เสียงเล็บขูดกระดานดำที่มักจะทำให้เรารู้สึกอยากจะบ้าตายอยู่ตลอด นั่นแหละคือความรู้สึกเดียวกันกับคนที่มีอาการของโรคนี้

 

 

การที่เรา “เกลียดเสียง” ถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดหรือเปล่า?

ส่วนคนที่รับรู้ว่าตัวเองมีอาการของโรคนี้ก็ไม่ต้องกลัวว่ามันจะเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะจากการสำรวจพบว่ามีคนป่วยเป็นโรคนี้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งโลกเลยทีเดียว

และโรคนี้ก็ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติในเรื่องของการฟังแต่อย่างใด เพราะงานวิจัยล่าสุดที่เกิดขึ้นอธิบายไว้ว่ามันเป็นเรื่องของกระบวนการการรับรู้ที่ส่งต่อไปยังสมอง ทำให้เราอ่อนไหวกับเสียงมากกว่าคนส่วนใหญ่

 

 

ผู้ที่มีอาการ มีแนวโน้มว่าจะเป็นอัจฉริยะ!!

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Northwestern สหรัฐอเมริกา ยังพบอีกว่า คนที่มีความอ่อนไหวต่อการรับรู้ในเรื่องของเสียงมากๆ นั้น อาจมีแนวโน้มที่จะมีความฉลาดมากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย ซึ่งอาจถือว่าเป็นข้อดีของโรคนี้

 

 

ผลเสียที่กระทบต่อการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตาม อาการของโรคเกลียดเสียงก็ยังคงถือว่าเป็นเรื่องที่สร้างความกวนใจให้กับคนที่เป็น และมันอาจทำลายชีวิตประจำวันของพวกเขาเหล่านั้นได้เลย ลองคิดดูว่าเมื่อพวกเขารู้สึกได้ยินอะไรก็หงุดหงิดไปหมด พวกเขาจึงเลือกที่จะหลีกเลี่ยง เกิดผลกระทบทำให้ไม่ยอมไปเรียน ทำงาน หรือแม้แต่การเข้าสังคม

ความสัมพันธ์ของคนที่เป็นกับคนอื่นๆ อาจลดลงตามไปด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่สมองสั่งการว่าเสียงที่ได้ยินคือสิ่งที่อันตราย ผู้ป่วยก็จะรู้สึกหงุดหงิดหัวเสียกับเสียงเหล่านั้น ทำให้พฤติกรรมที่แสดงออกมาอาจกลายเป็นความก้าวร้าว ท่าทางในแง่ลบ ทำให้คนใกล้ตัวถอยห่างออกไป

 

 

วิธีการเบื้องต้นของการจัดการกับปัญหานี้

ดังนั้นวิธีการง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองคือการดึงสติให้กลับมาอยู่กับตัวเอง รับรู้ก่อนว่าเรากำลังหงุดหงิดกับเรื่องอะไรอยู่ เมื่อรู้แล้วพยายามคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นไปในเชิงบวก ทำให้สมองผ่อนคลาย หรืออาจจะระบายออกโดยการโทรไปพูดคุยกับคนใกล้ตัวที่พร้อมจะรับฟัง หรือปลดปล่อยด้วยการทำกิจกรรมที่เราชื่นชอบ

 

 

หากรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้ ควรทำอย่างไร?

เมื่อไหร่ที่รู้สึกไม่สามารถจัดการกับอาการของโรคนี้ได้ด้วยตัวเอง ทางที่ดีคือควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา อย่าคิดว่าเราต้องเป็นคนบ้าถึงจะไปหาพวกเขาได้ เพราะอย่างที่บอกคืออาการนี้เกิดขึ้นจากการรับรู้และสมอง ซึ่งตรงกับคำว่า “จิต” ของเรานั่นเอง

 

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีสติ ใจเย็นๆ รับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างสงบ แล้วจึงค่อยๆ คิดวางแผนที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ เพียงเท่านี้มันก็จะช่วยแก้ปัญหาภายในจิตใจของเราไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว

 

ที่มา: medicalnewstoday , misophoniainternational , misophonia , webmd , 9gag

Comments

Leave a Reply