10 ความจริงน่ารู้เกี่ยวกับ ‘เวลา’ ที่แม้ไม่อาจไหลย้อนกลับ แต่เราสามารถควบคุมมันได้

พวกเราทราบกันดีว่าเวลาคือสิ่งที่ทุกคนมีเท่ากันหมด และเมื่อไหร่ที่มันผ่านไปแล้ว มันจะไม่มีวันไหลย้อนกลับมาได้อีก แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนคือ เราสามารถควบคุมเจ้าสิ่งนี้ได้ด้วยตัวเอง

ทั้งหมดนี้คือ 10 ความจริงของเวลา กับการที่เรารับรู้ถึงมันและวิธีการควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ต้องการ การจัดการเหล่านี้จะช่วยให้เพื่อนๆ รู้สึกเหมือนกับตัวเองมีเวลายาวนานกว่าแม้จะมีเท่ากันกับคนอื่นก็ตาม และแน่นอนว่ามันจะช่วยให้เพื่อนๆ ได้ทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่มากกว่าเดิมแน่นอน จะมีอะไรบ้างเราลองไปดูกัน

 

1. เวลาจะหยุดลงในตอนที่เรารู้สึกเบื่อ

เมื่อไหร่ที่เราเบื่อ เราก็จะยิ่งรู้สึกว่าเวลามันช่างผ่านไปช้าซะเหลือเกิน นั่นเป็นเพราะว่าเราให้ความสนใจและคิดถึงตัวเองมากจนเกินไป เกิดการประมวลผลของข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ บั่นทอนการรับรู้ในเรื่องของเวลา ในทางตรงกันข้าม ตอนที่เราให้ความสนใจกับสิ่งอื่นนอกเหนือจากตัวเองจริงๆ เรากลับจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปไวเหลือเกิน

 

2. เวลาจะช้าลงเมื่อต้องเจอกับความไม่แน่นอน

เวลา 10 นาทีสำหรับการเตรียมตัวออกจากบ้านนั้นช่างผ่านไปไวยิ่งนัก แตกต่างกับ 10 นาทีที่เราอาจกำลังนั่งรอผลตรวจครรภ์อยู่ ซึ่งมันช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานเหลือเกิน

เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นคือ เราไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่รอเราอยู่นั้นมันคืออะไร เราจึงให้ความสนใจกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไปซะหมด กลายเป็นความรู้สึกว่าเวลานั้นช่างยาวนานเหลือเกิน

 

3. เวลาหยุดลงในตอนที่เราให้ความสนใจกับนาฬิกามากเกินไป

ตื่นมาเราอาจจะขอนอนต่ออีกซัก 5 นาทีแล้วเรากลับรู้สึกว่ามันเป็นแค่ชั่วอึดใจเดียวจริงๆ ไม่เหมือนกับ 5 นาทีที่เราเฝ้าคอยให้ถึงเวลาเลิกงานหรือพักกลางวัน ทำไมมันถึงได้ผ่านไปช้าจนเหมือนกับเวลาถูกหยุดไว้แล้ว

เรารู้สึกอย่างนั้นเพราะ เรามัวแต่หันไปจ้องนาฬิกา สนใจเวลาเล็กๆ น้อยๆ ที่ไหลผ่านไป ทำให้การรับรู้ของเราถูกรบกวน สมองพยายามที่จะแก้ไขตรงจุดนั้นโดยการบอกว่าเรากำลังมองนาฬิกาอยู่ จบลงด้วยความรู้สึกที่ว่าหลายๆ อย่างมันช่างยาวนาน

 

4. เวลาจะยิ่งผ่านไปช้าในตอนที่เรารับรู้ถึงตัวเอง

จากความรู้สึกของเรา 20 นาทีที่ต้องไปขึ้นพูดบนเวทีต่อหน้าคนอื่น กับเวลา 1 ชั่วโมงที่เราใช้เดินกลับบ้านตัวเอง มันให้ความรู้สึกที่เหมือนกันมาก

ความรู้สึกนั้นเกิดจากการที่เราทำอะไรเป็นกิจวัตรประจำวัน การทำกิจกรรมนั้นๆ จะกลายเป็นช่วงเวลาที่เราจมอยู่กับความคิดของตัวเองมากกว่าที่จะมุ่งความสนใจไปกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอยู่ ตรงข้ามกับเวลาที่เราออกไปพูดด้านหน้า ตอนนั้นเราจะรับรู้ถึงตัวเองมากยิ่งขึ้น รับรู้ถึงเวลาปัจจุบันในขณะนั้น ยิ่งทำให้เวลาช้าลงไปทุกที

 

5. เวลาจะยิ่งยืดยาวออกไปในตอนที่เรากำลังกลัวหรืออยู่ในอันตราย

หากใครเป็นคนกลัวการขึ้นเครื่องบินจะเข้าใจเลยว่าช่วงเวลาเพียงประมาณ 1 ชั่วโมงบนท้องฟ้านั้น ทำให้เรารู้สึกว่ามันยาวนานเป็นวันเลยทีเดียว นั่นเป็นเพราะสมองของเราคิดถึงข้อมูลมากมายมหาศาลในช่วงเวลานั้นนั่นเอง

สมองจะทำการหยิบข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับ การเอาตัวรอด ในช่วงเวลานั้น และข้อมูลเหล่านั้นจะฝังอยู่ในสมองของเราแม้ในตอนที่ใจเย็นลงแล้วก็ตาม ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเครียดกับมันนานกว่าปกติ

 

6. เวลาจะช้าเมื่อเราต้องรอ

เมื่อเราต้องเป็นคนรออะไรสักอย่างหรือใครบางคน เวลาก็จะยิ่งผ่านไปช้าลงกว่าเดิมทุกๆ ที ยิ่งถ้าหากเราหัวเสียขึ้นมาด้วยแล้ว มันจะยิ่งรู้สึกยาวนานมากกว่าเดิมเสียอีก

นั่นเป็นเพราะว่าช่วงเวลาที่เรารอคอยสิ่งสิ่งนั้นอยู่ เราก็จะคิดถึงแต่สิ่งสิ่งนั้นเพียงอย่างเดียว เกิดความรู้สึกอ่อนไหวมากยิ่งขึ้นกับความปรารถนาของตัวเองและช่วงเวลาที่เรารอคอยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นมา

 

7. ช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความประทับใจใหม่ๆ จะยาวนานกว่าปกติ

หลายๆ คนอาจเคยรู้สึกว่าตอนที่เราเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ใหม่ๆ กับเพื่อนนั้น ขาไปจะรู้สึกยาวนานกว่าขากลับแม้ว่าจะเป็นถนนเส้นเดียวกันก็ตาม

มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่สมองต้องใช้เวลาในการจัดระเบียบและนำเสนอความแปลกใหม่หลายๆ อย่างที่เราได้พบเจอ เพื่อให้เราเข้าใจถึงสิ่งนั้นๆ ได้ หากเมื่อไหร่ที่เราเคยชินกับสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว ความรู้สึกในเรื่องเวลาของเราก็จะเร็วขึ้น

 

8. เวลาจะยิ่งผ่านไปเร็วมากกว่าเดิมในตอนที่เราเร่งรีบ

3 วันก่อนสอบนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดูน้อยนิดเอาเหลือเกิน เทียบไม่ได้กับ 3 วันแห่งการพักผ่อนเลย ซึ่งความเร่งรีบคือตัวการสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกว่าเวลามีเท่าไหร่ก็ไม่พอเลยจริงๆ

สาเหตุมาจากการที่เรามัวแต่คิดจะให้ทุกๆ อย่างเสร็จไปตามที่หวังมากจนเกินไป กลายเป็นการมองข้ามข้อมูลอื่นรอบตัว วันเวลาจะมีเท่าไหร่จึงไม่สำคัญ เพราะมันจะสั้นลงไปมากกว่าเดิม บางทีเราจึงควรทำให้มันมีความสมดุลกันทั้งช่วงเวลาของการทำงานที่ได้รับมอบหมายกับการพักผ่อนหย่อนใจ

 

9. หากทำอะไรซ้ำไปซ้ำมาทุกวัน เวลาจะยิ่งผ่านไปเร็วขึ้น

ชีวิตประจำวันที่ซ้ำไปซ้ำมาทำให้ทุกอย่างดูผ่านไปเร็ว ในขณะที่ตอนเราออกไปเปิดโลกกว้างเจอความแปลกใหม่กลับทำให้ทุกอย่างผ่านไปช้าลง

ความรู้สึกนั้นเป็นผลที่เกิดมาจากการที่สมองประมวลผลทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ความแปลกใหม่จำนวนมากที่พรั่งพรูเข้ามา กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เวลาผ่านไปช้ากว่าเดิม การได้เดินทางออกไปเปิดรับประสบการณ์ที่ไม่เคยเจอจึงเป็นสิ่งที่เติมเต็มความสุข และทำให้ช่วงเวลาของเรายาวนานและมีความหมายมากขึ้นด้วย

 

10. ยิ่งเราแก่ เวลาก็จะยิ่งผ่านไปเร็วขึ้น

ความจริงข้อนี้คือการรวมทุกเหตุผลก่อนหน้าที่พูดมาทั้งหมด ลองคิดตามกันง่ายๆ เมื่อเราแก่ตัวไป ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่มีความแปลกใหม่ อยู่ที่บ้านเวลาก็ผ่านไปเรื่อยๆ โดยที่เราอาจไม่รับรู้ถึงมันเลยด้วยซ้ำ เพราะสมองของเราแทบจะไม่จำเป็นที่ต้องประมวลผลสิ่งต่างๆ อีกแล้วนั่นเอง

 

จากความจริงทุกข้อนั้น วิธีการที่จะควบคุมและทำให้เรามีเวลาคุ้มค่าพอที่จะทำสิ่งต่างๆ คือ กระตุ้นให้สมองทำงานอยู่เสมอ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ออกไปเจอกับคนหน้าใหม่ๆ ออกไปผจญในสถานที่ที่ไม่เคยไป สร้างความประหลาดใจให้กับตัวเองบ้างเป็นครั้งคราว

เพียงเท่านี้แม้เวลาของทุกคนจะมีเท่ากัน แต่เชื่อว่าเวลาของเพื่อนๆ นั้นจะต้องกลายเป็นความรู้สึกที่ยาวนาน มากพอที่จะสร้างความหมายให้กับชีวิตของตัวเองได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

ที่มา: brightside

Comments

Leave a Reply