เจาะลึก ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ ที่กำลังระบาด มันคืออะไรกันแน่ และคุณต้องรับมืออย่างไร!?

ในช่วงที่ผ่านมานั้น ตามพื้นที่สื่อและโลกออนไลน์ภายในประเทศไทย มีข่าวคราวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคพิษสุนัขบ้า

ทำให้หลายๆ จังหวัดนั้นถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดงโดยกรมปศุสัตว์ ต้องทำการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 รายตั้งแต่เดือนมกราคม 2018

อาจจะฟังเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ทว่าหากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน หากติดเชื้อแล้วอาจจะหมดหนทางรักษาให้หายขาดได้… แล้วโรคพิษสุนัขบ้านั้นแท้จริงแล้วน่ากลัวขนาดไหน เรามาหาคำตอบกันเถอะ

 

 

โรคพิษสุนัขบ้า

หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ‘โรคกลัวน้ำ’ เป็นเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Lyssavirus หรือ Rabies virus สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้

ซึ่งเชื้อไวรัสนี้จะอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ ทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบทั้งในคนและสัตว์ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันทีก็จะไม่มีทางรักษาได้ และเสียชีวิตในที่สุด

 

 

สาเหตุการติดเชื้อสู่มนุษย์

โรคพิษสุนัขบ้านั้นไม่ได้พบแค่ในสุนัขเหมือนในชื่อเพียงเท่านั้น แต่มันสามารถแพร่สู่สัตว์ตระกูลสุนัข ทั้งสุนัขบ้านและสุนัขป่า

 

 

นอกจากนั้นยังมีสัตว์ตระกูลแมว สัตว์ตระกูลหนู และยังมีค้างคาว วัว ควาย แพะ แกะ ม้า ลิง กระรอก พังพอน หรือก็คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด รวมทั้งมนุษย์ก็สามารถติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนนั้นอาจมาจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังบริเวณที่มีบาดแผล ทำให้เชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลายนั้นเข้าสู่บาดแผลได้ หรือการหายใจเอาละอองไอน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่นการเข้าไปในถ้ำที่มีค้างคาวนับล้านอาศัยอยู่

 

 

อาการของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า

1. ระยะก่อนเข้าสู่สมอง (Prodrome) บริเวณรอบๆ แผลที่ถูกกัดจะมีอาการคัน ปวดและชา ซึ่งมาจากการที่เชื้อไวรัสนั้นเข้าสู่เซลล์ประสาทที่ไขสันหลัง นอกจากนั้นอาจจะมีอาการแทรกซ้อนเช่น มีไข้ ปวดหัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนและท้องเสียเป็นเวลาประมาณ 1-7 วันก่อนจะเข้าสู่ระยะต่อไป

 

 

2. ระยะอาการทางสมอง (Acute Neurologic Phase) ซึ่งจะแบ่งอาการออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

2.1 กลุ่มสมองอักเสบ (Encephalitis)

ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับโรคสมองอักเสบ คือมีไข้ เห็นภาพหลอน คลุ้มคลั่ง กล้ามเนื้อแข็งเกร็งและชัก แต่ที่แตกต่างออกไปคือ มีอาการน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก น้ำตาไหล ม่านตาขยาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาการเหล่านี้มาจากระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมโดยก้านสมองนั้นติดเชื้อ ทำให้มีการทำงานที่ผิดปกติ

 

2.2 กลุ่มกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต (Paralytic)

เป็นอาการที่ไม่ค่อยพบเจอบ่อย ซึ่งผู้ติดเชื้อประเภทนี้จะไม่แสดงอาการเหมือนกับกลุ่มสมองอังเสบ แต่จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบคนเป็นอัมพาตแทน แต่ประสาทรับความรู้สึกยังปกติดีอยู่

 

3. ระยะสุดท้าย (Coma) สุดท้ายแล้วผู้ป่วยที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าทุกประเภทก็จะเข้าสู่ระยะสุดท้าย ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูงหรือต่ำมาก หัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 100% ภายในเวลาประมาณ 10 วันนับตั้งแต่เกิดอาการแรก

 

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อติดเชื้อในมนุษย์

 

จะทำอย่างไรเมื่อถูกกัด

1. ล้างแผล เมื่อถูกกัดแล้วจะต้องรีบล้างแผลโดยทันที ซึ่งการล้างด้วยสบู่ ยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์จะสามารถทำลายเชื้อได้มากขึ้น

2. ให้สารภูมิต้านทาน การให้สารเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานนั้นจะไปทำลายไม่ให้เชื้อเข้าสู่เส้นประสาทได้

3. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้สร้างกายสร้างแอนติบอดี้มาทำลายเชื้อโรค ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน จึงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันมากพอที่จะทำลายเชื้อโรคได้

 

 

หากท่านมีสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ควรนำไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันพิษสุนัขบ้าทันที ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีโรงพยาบาลสัตว์ต่างๆ จากหลายๆ จังหวัดได้ประกาศที่จะฉีดวัคซีน ให้กับสัตว์เลี้ยงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากจะเป็นการป้องกันให้กับตัวสัตว์เลี้ยงแล้วยังถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

 

 

ซึ่งในตอนนี้กรมปศุสัตว์ก็ได้มีการประกาศพื้นที่โรคพิษสุนัขบ้าระบาด หรือพื้นที่สีแดงตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมถึงวันที่ 4 เมษายน 2018 ได้แก่…

สุรินทร์ , ชลบุรี , สมุทรปราการ , ฉะเชิงเทรา , น่าน , บุรีรัมย์ , อุบลราชธานี , เชียงราย , ร้อยเอ็ด , สงขลา , ระยอง , ตาก , ศรีสะเกษ , มหาสารคาม , นครราชสีมา , ตรัง , ประจวบคีรีขันธ์ , อำนาจเจริญ , ยโสธร , สมุทรสงคราม , นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร

และนอกเหนือจากนี้ยังมีกลุ่มจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า หรือเป็นเขตพื้นที่สีเหลืองมากกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ

 

 

และมีการตรวจพบว่ามีสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อจำนวน 315 ตัว ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 2 เท่า ซึ่งจะพบในสุนัขมากกว่า 90% และรองลงมาเป็นแมวและวัวตามลำดับ

สาเหตุหลักของการแพร่ระบาดของโรคนั้นมาจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ไม่ยอมนำสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปฉีดวัคซีนตามกำหนด ซึ่งในกรณีนี้มีข้อกฎหมายหากไม่นำสัตว์เลี้ยงไปฉีควัคซีน มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาทต่อตัว

 

ใครที่มีสัตว์เลี้ยงก็อย่าลืมพาไปฉีดวัคซีนป้องกันนะ และสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังก็อย่าลืมดูแลตัวเองและป้องกันอย่างถูกวิธีด้วยล่ะ

 

ที่มา Everything ExplainedHaamor, springnews, wikipedia, who

Comments

Leave a Reply