สิ่งที่ผู้คนเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ ‘การปั๊มหัวใจ’ ไม่ได้ช่วยทำให้หัวใจหยุดเต้นกลับมาตามปกติได้

ในนาทีชีวิต ที่ผู้ป่วยกำลังจะหมดลมหายใจลง เราก็เคยอาจจะเห็นอุปกรณ์ที่ชื่อว่า ‘เครื่องปั๊มหัวใจ’ ช่วยชีวิตของผู้คนมาแล้วมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วเครื่องปั๊มหัวใจไม่สามารถทำให้หัวใจที่หยุดเต้นแล้วสามารถกับมาทำงานได้ อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเจ้าเครื่องนี้เกิดขึ้นอย่างมากมาย

และในวันนี้ทางเพจที่มีชื่อว่า 1412 Cadiology ก็ได้นำความจริงเกี่ยวกับเครื่องช่วยชีวิตอันนี้ มาให้หลายคนได้ทราบถึงความสามารถจริงๆ ของมันกัน ซึ่งบางทีสิ่งที่เราเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องนี้มาตลอด อาจจะเป็นสิ่งที่ผิดก็เป็นได้ และความจริงที่ว่านั้นจะเป็นอย่างไร ก็ไปเรียนรู้พร้อมๆ กันเลยดีกว่า

 

 

เครื่องปั๊มหัวใจสามารถทำให้หัวใจที่หยุดเต้นแล้ว กลับมาเต้นอีกครั้งได้จริงหรือไม่

คำตอบก็คือ ไม่จริง เพราะว่าหัวใจที่หยุดเต้นลงไปแล้ว  ไม่ว่าจะใช้กระแสไฟฟ้าแรงสูงขนาดไหน ก็ไม่สามารถที่จะทำให้มันกลับมาเต้นได้อีกครั้งหนึ่ง

 

แล้วทำไมคุณหมอจึงเอาไฟฟ้ามาช๊อคใส่คนไข้กันล่ะ

ที่เราเห็นคุณหมอนำกระแสไฟฟ้ามาช๊อคใส่คนไข้ก็เพราะว่า ต้องการจะทำให้หัวใจที่เต้นเร็วเกินไปกลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากหัวใจที่เต้นเร็วเกินไป จะทำให้หัวใจไม่สามารถบีบเลือดออกไปได้นั่นเอง

 

 

เต้นเร็วเกินไปแล้วเอาไฟฟ้ามาช๊อคใส่ทำไมอีก

นั่นก็เป็นเพราะว่าสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นเร็วเกินไป ก็คือไฟฟ้าลัดวงจรในหัวใจ และการที่เรานำไปไฟฟ้าไปช๊อคนั้น ก็เพื่อจะให้เซลล์ทุกเซลล์ในหัวใจถูกกระตุ้น และเข้าสู่ระยะพักฟื้นพร้อมกันทั้งหมด เหมือนการรีเซ็ตเพื่อทำงานใหม่พร้อมๆ กันก็ว่าได้

 

ถ้าอย่างงั้นก็แสดงว่าการรักษาผู้ป่วยที่หัวใจหยุดทำงาน  การช๊อคหัวใจต้องรีบทำให้เร็วที่สุดล่ะสิ

ถูกต้องครับ ซึ่งหากเป็นเหตุการณ์ที่ฉุกเฉินเราก็อาจจะใช้การกดหน้าอกบีบเลือดออกจากหัวใจซื้อเวลาไปก่อน และต้องทำการช๊อคหัวใจให้เร็วที่สุดแต่ไม่ใช่ลากเครื่องมาแล้วช๊อคไฟฟ้าทุกราย เราลากเครื่องมาเพื่อตรวจให้แน่ใจว่าหัวใจหยุดทำงานจากหัวใจเต้นเร็วเกินไปจริงรึเปล่า ถ้าใช่ถึงจะสามารถทำการช๊อคได้

 

 

ถ้าหากเป็นเช่นนั้น แสดงว่าต้องมีสาเหตุอื่นแน่ๆ ที่ทำให้หัวใจหยุดทำงานและไม่สามารถช๊อคไฟฟ้าได้

มีอีก 2 สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้หัวใจหยุดเต้น อย่างแรกคือหัวใจหยุดไปเลยไม่มีไฟฟ้าไม่มีการบีบตัว (Asystole) และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือมีไฟฟ้านำได้ปกติแต่หัวใจกลับไม่บีบตัว (Pulseless electrical activity หรือ PEA) ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุนี้ การช๊อคไฟฟ้าจะไม่สามาถช่วยอะไรได้เลยทั้งสิ้น ซ้ำร้ายอาจจะทำให้หัวใจบอบช้ำจากกระแสไฟกว่าเดิม อีกด้วย

 

ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า การบอกสาเหตุของการที่หัวใจหยุดทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  เพราะจะได้เลือกการรักษาได้ถูกต้อง??

ถูกต้องครับ การลากเครื่องช๊อคไฟฟ้าหัวใจมาถึงคนไข้ให้เร็วที่สุด ไม่ใช่เพื่อเอามาช๊อคใส่ทันที แต่ลากเพื่อมาตรวจว่าสอบว่าเราจะสามารถใช้การช๊อคได้หรือไม่ได้ ถ้าช๊อคได้จะได้รีบดำเนินการให้ทันท่วงทีนั่นเอง

 

 

แล้วการวาง แผ่น Paddle (แผ่นที่ติดกับร่างกายของผู้ป่วย) ควรวางอย่างไรดีล่ะ

ต้องวางให้แนวมันพาดผ่านหัวใจไม่อย่างนั้นก็จะไม่ค่อยได้ผล โดยปกติแล้วแผ่นแรกจะถูกวางไว้ที่กระดูกสันอก ส่วนอีกแผ่นจะวางเอาไว้ที่ผนังหน้าอกด้านซ้าย หรือตำแหน่งของหัวใจของผู้รับการรักษา ซึ่งในบางกรณีถ้าหัวใจอยู่ด้านขวาก็ต้องย้ายมาด้านขวาเช่นเดียวกัน

 

เวลาปล่อยไฟใส่คนไข้ คนไข้จะมีความรู้สึกเจ็บบ้างไหมนะ

คำตอบของข้อนี้ก็คือ เจ็บ แต่คนไข้ที่หัวใจหยุดทำงานจะหมดสติอยู่แล้ว ข้อนี้จึงไม่ต้องเป็นห่วงอะไรมาก

 

 

แล้วเวลาปล่อยไฟคนไข้จะกระตุกเหมือนในละครมั๊ยนะ

ก็อาจมีการกระตุกเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่มีเสียงซาวเอฟเฟค “zappp” เหมือนในละครนะ

 

การช๊อคแต่ละครั้งต้องใช้กระแสไฟสูงไหม??

ปกติแล้วทางการแพทย์จะพยายามใช้ไฟให้น้อยที่สุดที่ได้ผล เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจ โดยเครื่องรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้การจ่ายไฟแบบ Biphasic จะใช้กระแสไฟน้อยกว่าและได้ผลดีกว่าเครื่องแบบ  Monophasic  ในรุ่นเก่าๆ นั่นเอง

 

 

เป็นเครื่องที่มีประโยชน์ขนาดนี้ น่าเสียดายจริงๆ ที่มีอยู่แค่ในโรงพยาบาล

ในปัจจุบัน เครื่องช๊อคไฟฟ้าหัวใจหรือเครื่องกระตุกหัวใจมีสามรูปแบบ ด้วยกัน ในแบบแรกก็คือเครื่องกระตุกหัวใจมาตรฐานในโรงพยาบาล

ส่วนแบบที่สองก็คือเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ เครื่อง AED เป็นกระเป๋าใบเล็กๆ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเปิดออกมาใช้งานได้เลยและ มีติดตั้งอยู่ในที่สาธารณะต่างๆ

ส่วนแบบสุดท้ายก็คือ เครื่องกระตุกหัวใจแบบฝังสายไว้ในหัวใจ ซึ่งจะใช้สำหรับคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจและมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการหัวใจหยุดเต้นมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป นั่นเอง

 

ว้าวว มีเครื่องที่คนทั่วไปสามารถใช้งานได้ด้วย ว่าแต่เครื่อง AED ที่ว่านี่สามารถใช้งานในรูปแบบไหนได้บ้างนะ

สำหรับเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ ที่คนทั่วๆ ไปสามารถใช้งานได้นั้น เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่งที่สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตชนิดเวนทริคูลาร์ฟิบริลเลชัน (ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว)  และเวนทริคูลาร์แทคีคาร์เดีย (ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ) ได้โดยอัตโนมัติ

และสามารถให้การรักษาด้วยการช๊อคไฟฟ้ากระตุกหัวใจ ได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบของการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้องนั่นเอง

แต่ก็มีข้อแม้อยู่บางอย่างก็คือ เครื่อง AED ทำงานเช่นเดียวกับเครื่องกระตุกหัวใจธรรมดาอื่นๆ คือไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ช็อคหัวใจที่หยุดเต้นแบบไม่มีคลื่นไฟฟ้า (เส้นคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบนราบ) ซึ่งหากนำไปใช้ ก็อาจไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น โดยผู้ป่วยที่มีภาวะเช่นนั้นจะมีโอกาสรอดชีวิตได้ด้วยการนวดหัวใจและการใช้ยากระตุ้นหัวใจเท่านั้น

 

ที่มา: 1412 Cardiology

Comments

Leave a Reply