วิทยาศาสตร์พิสูจน์ความจริงของชาว ‘ไวกิ้ง’ กับการพา ‘แมวเหมียว’ ขึ้นเรือทุกครั้งที่ออกไปพิชิตโลก

พวกเราเคยได้ยินคำพูดที่ว่าแมวคิดจะครองโลกกันใช่ไหม แน่นอนว่าบางคนอาจจะคิดว่ามันก็แค่เรื่องล้อเล่น แต่หลังจากอ่านบทความนี้แล้วเพื่อนๆ อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดก็ได้ เพราะแมวมันคิดจะครองโลกจริงๆ นะ มันถึงกับขึ้นเรือตาม “ไวกิ้ง” ไปปล้นสะดมเลยทีเดียว

 

 

จากการศึกษา DNA ของแมวโบราณนักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการเลี้ยงแมวอยู่ในเขตตะวันออกและอียิปต์ตั้งแต่ประมาณ 1 แสน 5 หมื่นปีก่อน

เมื่อตามรอยการเลี้ยงแมวบ้านไปเรื่อยๆ พวกเขาก็พบว่าแม้แต่พวกไวกิ้งก็มีการเลี้ยงแมวไว้ในบ้านด้วยเช่นกัน ซึ่ง DNA ของสายพันธุ์ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยนั้น ถูกพบในกว่าสามสิบแหล่งโบราณคดีทั่วทั้ง ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

 

น่าเสียดายที่เราไม่มีหลักฐาน ที่บอกว่าแมวในสมัยก่อนหน้าตาต่างจากปัจจุบันอย่างไร

 

นักวิจัยตรวจสอบโดยมุ่งเน้นไปที่ DNA ที่ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกเท่านั้น พวกเขาพบว่าแมวป่าที่มาจากตะวันออกกลาง และแมวป่าที่อยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก มี DNA mitochondrial ที่คล้ายกัน หรือก็คืออาจจะมาจากเชื้อสายเดียวกันก็เป็นได้

จากการวิจัยยังพบอีกว่า การเพิ่มจำนวนอย่างมหาศาลของแมวเลี้ยงนั้นน่าจะเกิดขึ้นถึงสองครั้งในประวัติศาสตร์ ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่คุ้นเคยกันดี แมวป่าได้เข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรมเพราะไปล่าพวกหนูที่กัดกินเมล็ดพืชในแถบนั้น พวกเกษตรกรที่เห็นความมีประโยชน์เหล่านั้นจึงได้เริ่มเลี้ยงพวกแมวที่เข้ามาในพื้นที่

 

มาล่าหนูอยู่ดีๆ ได้ทาสเฉยเลย

 

สิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือหลังจากนั้นหลายพันปี ก็มีการเกิดการเพิ่มจำนวนของแมวเลี้ยงขึ้นมาอีกครั้ง สาเหตุของครั้งที่สองมาจาก คนเดินทะเลในสมัยโบราณเช่นชาวเรือและชาวไวกิ้งรับเอาแมวมาเลี้ยงบนเรือของพวกเขา เป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก ทำไมพวกคนเหล่านี้ถึงต้องการแมวบนเรือของพวกเขาที่ต้องใช้ในการเดินทางระยะยาวแบบนั้น?

ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากในการพาแมวขึ้นมาบนเรือ เนื่องจากแมวสามารถกำจัดพวกหนูในเรือได้ ทำให้หนูไม่ขยายพันธุ์จนล้นเรือ และเรือจะได้ไม่โดนพวกหนูเหล่านั้นแทะจนเป็นรูรั่ว

 

ชาวไวกิ้ง นักรบมีชื่อในช่วงระหว่างศตวรรษที่แปดถึงศตวรรษที่สิบเอ็ด

ความเชื่อมต่อของ DNA แมวพวกนั้นสามารถพบได้ในอดีตพื้นที่ของไวกิ้งทางภาคเหนือของเยอรมนี และมีอายุอยู่ในช่วงระหว่างศตวรรษที่แปดถึงศตวรรษที่สิบเอ็ด

อย่างไรก็ตามการค้นพบนี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรเนื่องจากการค้นพบนี้ยังเป็นเพียงการค้นพบเบื้องต้นเท่านั้น ข้อมูลที่พบนั้นยังมีโอกาสถูกเปลี่ยนแปลงหรือได้รับหลักฐานเพิ่มเติม ผลการวิเคราะห์ที่ดีกว่านี้อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดีเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่มนุษย์เราศึกษาประวัติศาสตร์ของการรับเลี้ยงสุนัขมาเป็นเวลานานแต่กลับไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการรับเลี้ยงแมวเสียเท่าไหร่ ดังนั้นการค้นพบครั้งนี้จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่นักวิทยาศาสตร์หันมาสนใจประวัติศาสตร์ของสัตว์ตระกูลแมวมากขึ้น และสักวันเราคงจะได้รับรู้ที่มาของนายทาสของพวกเราก็เป็นได้

 

“เจ้าไม่จำเป็นต้องรู้อะไร แค่บูชาข้าก็พอ” แมวไม่ได้พูดไว้

 

ที่มา Thevintagenews

Comments

Leave a Reply