MIT เผย “โรคเสพติดมือถือ” มีอยู่จริง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร้ายแรงกว่าที่เราคิด!?

ปัจจุบัน แทบทุกคนจะต้องมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง และการที่เล่นแต่มือถือจนแทบไม่เงยหน้าขึ้นมาเลย แบบนั้นเราอาจเรียกว่า อาการของคนติดมือถือ แต่เพื่อนๆ รู้มั้ยว่าอาการนั้นมันมีอยู่จริงและสามารถส่งผลเสียให้กับสุขภาพเราได้อย่างมาก

การเสพติดมือถือจะมีความใกล้เคียงกับการเสพติดโซเชียลมีเดีย เพราะคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น มักจะเล่นโซเชียลมีเดียผ่านมือถือกันทั้งนั้น การโทรคุยกันแทบจะไม่เกิดขึ้น เพราะเราสามารถได้เห็นและสื่อสารกันผ่านโลกโซเชียลได้

 

 

นั่นจึงทำให้มีการศึกษาจำนวนมากที่พยายามศึกษาเกี่ยวกับผลเสียที่ตามมาจากสมาร์ทโฟน ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2017 สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือรู้จักกันในชื่อ MIT ได้เผยแพร่ การทดลองของอาจารย์โรงเรียนสอนธุรกิจในประเทศอิตาลี และฝรั่งเศส

อาจารย์ทั้งสองคนตั้งกฎห้ามไม่ให้นักเรียนใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลาหนึ่งวัน ผลลัพธ์ที่ได้คือ นักเรียนส่วนใหญ่เกิดความกระวนวายขึ้นมา เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเวลาว่างไปทำอะไรดี เนื่องจากปกติพวกเขาจะเช็กโทรศัพท์กันอยู่เสมอ เหมือนอย่างนักเรียนคนหนึ่งที่ปกติจะเช็กมือถือของตัวเองถึง 4 ครั้งในเวลาแค่ 10 นาที

 

 

การศึกษาในรูปแบบเดียวกันนั้นเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นมือถือจะทำงานที่ต้องใช้สภาวะทางด้านจิตใจได้แย่ลง รู้สึกสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป และยังส่งผลถึงทางร่างกาย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

มี การศึกษาหนึ่งที่พูดถึงการเพิ่มสูงขึ้นของผู้มีอาการซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในปี 2010 – 2015 จากสถิติของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือรู้จักกันในชื่อ CDC ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในช่วงที่สมาร์ทโฟนเริ่มเป็นที่นิยม โดยสถิติการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นถึง 65 เปอร์เซ็นต์ และหญิงสาวที่มีอาการซึมเศร้าก็เพิ่มอีกกว่า 58 เปอร์เซ็นต์

 

 

ในการสำรวจพบความเชื่อมโยงกันระหว่างสมาร์ทโฟนและปัญหาสุขภาพจิต โดยผู้ที่เล่นสมาร์ทโฟนมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน 48 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านั้นจะเกิดความคิดหรือวางแผนฆ่าตัวตาย ในขณะที่คนที่เล่นมือถือวันละแค่ 1 ชั่วโมงจะมีเพียงแค่ 28 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

การศึกษา ใน Radiological Society แห่งอเมริกาเหนือ ยังบอกอีกว่าอาการเสพติดนี้ยังส่งผลไปถึงระบบประสาทและสมองของเรา จนทำให้เหมือนกับถูกครอบงำด้วยสิ่งเสพติดที่เรียกว่าสมาร์ทโฟนหรือโซเชียลมีเดีย แต่เมื่อวัยรุ่นเหล่านั้นได้รับการบำบัดพฤติกรรมการรู้คิด (CBT) สมองจะปล่อยสารเคมีออกมา ทำให้ลบล้างความรู้สึกเสพติดสิ่งนั้นไปได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่สามารถถอนตัวได้เลย โดยเฉพาะการได้จมเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียล

 

 

การศึกษาเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ หากเพื่อนๆ ไม่อยากประสบปัญหานี้ ก็ต้องใช้เวลากับมันอย่างเหมาะสมและอย่าให้มันมากระทบกับการใช้ชีวิตของเราได้นะ

 

ที่มา: forbes

Comments

Leave a Reply