มารู้จักกับอาการ Philophobia หรือ ‘โรคกลัวความรัก’ สำรวจตัวเองว่า คุณก็เป็นรึเปล่า!?

หลายคนคงเข้าใจว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม แต่ก็ยังคงมีคนบางกลุ่มที่มองว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ซึ่งบางทีอาจเกิดมาจากประสบการณ์ในอดีตที่ยังคงฝังใจเรื่อยมา และไม่กล้าที่จะมีความรักกับใครอีก

หากว่าคุณเป็นคนที่คิดอย่างนั้นอยู่ มันอาจเป็นสิ่งที่บอกได้ว่า คุณกำลังเป็น โรคกลัวความรัก หรือที่เรียกว่า Philophobia ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป เป็นหนึ่งในอาการความกลัวทางจิตเวชที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับต้นๆ

วันนี้เราจึงจะพาไปให้ทุกคนรู้จักกันว่ามันคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด อาการของโรคเป็นอย่างไร และจะรักษาด้วยวิธีการใดได้บ้าง

 

Philophobia คืออะไร?

คำว่า Philo ที่มาจากภาษากรีก แปลว่า ความรัก ดังนั้นมันก็คือ โรคกลัวความรัก นั่นเอง ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ จะพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความรัก พยายามที่จะไม่ให้ตัวเองรู้สึกว่ารักใคร หรือรู้สึกพิเศษกับใครเลยสักคน ต่อให้ในบางครั้งจะรู้สึกดีกับใครขึ้นมาบ้าง แต่สุดท้ายก็จะไม่ยอมเปิดใจและถอยห่างออกมาโดยไม่ทราบสาเหตุ

สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง?

สิ่งที่สามารถทำให้เราเป็นโรคนี้ได้ อาจเกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

1.เหตุการณ์ในแง่ลบที่ฝังใจมาตั้งแต่เด็ก

โดยเฉพาะคนที่โตมาในครอบครัวที่มีความแตกแยกเกิดขึ้น พ่อแม่หย่าร้าง ทะเลาะตบตีกันให้เห็น หรือคนใกล้ตัวที่มีชีวิตรักไปในทางที่ไม่ค่อยดีนัก จะทำให้เราจำภาพนั้นและฝังเข้าไปในความคิดของตัวเองได้โดยไม่รู้ตัว

2.วัฒนธรรม หรือศาสนา ที่มีข้อห้ามเกี่ยวกับความรัก

ศาสนาหรือขนบประเพณีของบางแห่ง อาจมีข้อห้ามหรือกรอบกฎเกณฑ์บังคับเอาไว้ให้กับความรักอย่างชัดเจน เหมือนอย่างที่เราเคยเห็นในละคร เวลาที่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงกีดกัน ทำให้ไม่สามารถรักกันได้ สิ่งนั้นอาจสร้างความกลัวและทำให้เราไม่กล้าเสี่ยงที่จะมีความรักกับใครอีก

3.การล้มเหลวในความรักซ้ำๆ

มีรักเมื่อไหร่ก็ต้องเจ็บปวดและเลิกรากันไปทุกที เมื่อต้องเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอด อาจทำให้คุณปฏิเสธที่จะมีรักครั้งใหม่ไปเลยก็ได้

4.รู้สึกว่าตัวเองหดหู่ เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ

ถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้คุณคิดว่า ตัวเราเองไม่มีค่าพอที่จะเหมาะสมกับใครสักคน เลือกที่จะไม่สร้างความสัมพันธ์กับใครอย่างลึกซึ้ง ต่อให้คนคนนั้นเป็นคนที่ชอบก็ตาม

 

 

อาการไหนบ้างที่จะบอกว่าคุณป่วยเป็นโรคนี้?

หากเริ่มสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคนี้หรือเปล่า ก็ลองไปดูกันเลยว่าสิ่งที่จะบอกว่าเป็นหรือไม่จะมีอะไรกันบ้าง

1.รู้สึกกังวลใจ หรือทนรับความรู้สึกไม่ได้ ทุกครั้งที่เริ่มหวั่นไหวไปกับความรัก จนบางทีอาจทำให้เกิดความเครียด

2.จะพยายามอย่างสุดโต่ง หักห้ามใจตัวเองไม่ให้จมดิ่งลงไปกับความรู้สึกรัก

3.หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เหล่าคู่รักชอบไปกัน เช่น โรงหนัง สวนสาธารณะ

4.ชอบใช้ชีวิตคนเดียว แต่ไม่ใช่เพราะว่ารักสันโดษ ทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องไปเจอกับคน ที่อาจทำให้รู้สึกหวั่นไหวได้

5.ไม่เปิดใจ ปิดกั้นตัวเองไม่ให้ใครสามารถเข้ามาทำให้รู้สึกว่ารักได้

6.ประเมินคนรอบข้างว่าจริงใจ หรือรักเรามากแค่ไหน และจะมอบความรู้สึกเดียวกันกลับไปให้คนคนนั้น เพราะกลัวว่าถ้าให้ไปมากกว่าคนอื่น อาจต้องเจอกับความผิดหวังได้

7.เวลาที่ต้องเจอกับบรรยากาศโรแมนติกหวานๆ หรือมีคนพยายามตามจีบเราอย่างชัดเจน อาจมีอาการที่แสดงออกมาทางร่างกาย เช่นหัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก หายใจติดขัด คลื่นไส้ หรือโดนเข้าหาหนักๆ ก็อาจเป็นลมได้

 

 

อาการที่เป็นต้องอยู่ในระดับไหน ถึงควรไปปรึกษาแพทย์?

ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่น การหลีกหนีออกจากสังคม เก็บกด อยู่แต่กับตัวเอง เงียบขรึม เป็นต้น เพราะว่าความกลัวไม่ได้มีเพียงชีวิตคู่เท่านั้น แต่รวมถึงความรักที่มีให้กับคนในครอบครัว เพื่อน และคนรอบข้างอีกด้วย

ทั้งหมดอาจทำให้เกิดความเครียด ความกดดันจนเป็นบ่อเกิดให้กับปัญหาสุขภาพที่ตามมาทีหลังได้ เพราะฉะนั้นเมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวมากๆ เข้า ก็ควรที่จะลองไปพบแพทย์ดูก่อน

 

 

โรคนี้รักษาได้อย่างไรบ้าง?

แนวทางการรักษา สามารถแบ่งได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้

1.ความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy)

คือการให้นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เข้ามาพูดคุย และสร้างมุมมองให้คนไข้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ดีขึ้น จากการพูดคุยในเรื่องที่กลัว หรือใช้รูปภาพ วิดีโอเกี่ยวกับความรักเข้ามาช่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีทัศนคติในแง่บวกเกี่ยวกับความรัก และสามารถจัดการกับกับความรู้สึกตัวเองได้ดีขึ้น

2.การเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวโดยตรง

เป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลมากพอสมควร โดยผู้เชี่ยวชาญจะจำลองให้ผู้ป่วยเผชิญกับสถานการณ์โรแมนติก มีเพศตรงข้ามเข้ามาชวนคุย หรือการเปิดหนังรักหวานซึ้ง เพื่อฝึกให้สามารถลดแรงกดดัน และต้านทานความกลัวของตัวเองได้ดีขึ้น เวลาที่ไปเจอกับสถานการณ์จริง

3.การใช้ยา

รักษาด้วยยาคือตัวช่วยเสริมสำหรับคนไข้ที่มีความเครียด หรือวิตกกังวลเวลาที่ต้องเจอกับสิ่งที่กลัว ช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมอารมณ์และการแสดงออกได้ดีขึ้น

 

หนังสั้นที่จะทำให้ทุกคนเห็นภาพของผู้ป่วยเป็นโรคนี้ได้ชัดเจนขึ้น

 

ถึงแม้ว่าโรคดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลต่อคนรอบข้างก็ตาม แต่หากปล่อยไว้มันก็จะสร้างปัญหาให้กับตัวเราเองได้ไม่มากก็น้อย ฉะนั้นหากเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีอาการ ก็อย่านิ่งดูดายและรีบรักษาจะดีกว่านะ

 

 

ที่มา: newlovetimes , health.kapook

Comments

Leave a Reply