ผู้เชี่ยวชาญเผย 11 ทริคทางจิตวิทยา เพื่อโน้มน้าวให้คนอื่นทำตามในสิ่งที่เราขอ!?

เชื่อไหมว่าไม่จำเป็นต้องเป็นถึงระดับ CEO เราก็สามารถทำให้คำพูดเรามีน้ำหนักพอที่จะจูงใจคนฟังได้!!

เพราะล่าสุดผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาได้ออกมาเผยถึง 11 ทริคไม่ลับ ที่จะช่วยทำให้เราสามารถสื่อสารกับฝ่ายตรงข้ามให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ง่ายขึ้น โดยที่บางทีพวกเขาอาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

 

1. ใช้ตัวล่อช่วยทำให้คนหันมาซื้อสินค้าเรามากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ ‘Dan Ariely’ เคยกล่าวบนเวที Ted Talk ถึงเทคนิคการขายของสองสิ่งที่อาจจะมีราคาสูงใกล้เคียงกัน ให้ผู้ขายใช้สินค้าตัวที่ 3 เข้ามาเป็นตัวล่อ ยกตัวอย่างเช่น

ร้านแห่งหนึ่งขายเค้กช็อคโกแลตปอนด์ละ 500 บาท เค้กกล้วยปอนด์ละ 1,000 บาท แต่ถ้าเอาทั้งเค้กกล้วย และเค้กช็อคโกแลต ราคาก็จะยังคงอยู่ที่ 1,000 บาท จะทำให้ดูเหมือนว่าตัวเลือกที่ 3 น่าสนใจมากที่สุด และดูคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งเขาได้อธิบายเพิ่มว่านั่นก็คือการสร้างตัวเลือกที่ 3 โดยให้กลุ่มคนซื้อรู้สึกว่าคุ้มค่าที่สุด

 

2. เปลี่ยนบรรยากาศการพูดคุยให้อยู่ในที่ๆ คนรู้สึกเห็นแก่ตัวน้อยลง

บรรยากาศคือสิ่งสำคัญในการต่อรอง ถ้าหากเราต้องต่อรองกับเพื่อนร่วมงานละก็ บางทีอาจจะเปลี่ยนจากห้องประชุมที่แสนจะน่าเบื่อ ย้ายมาคุยกันที่บรรยากาศร้านกาแฟสุดแสนจะร่มรื่นย์ หรือสวนสาธารณะ สถานที่ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมความก้าวร้าวของมนุษย์ได้น้อยกว่า

 

 

3. ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่นก่อน

Robert Cialdini นักจิตวิทยาได้กล่าวว่า อีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้คนๆ นั้นทำตามในคำขอของเราได้ ก็คือการหยิบยื่นน้ำใจไมตรีเข้าไปช่วยเหลือเขาก่อน จะทำให้คนนั้นรู้สึกอยากตอบแทนเรากลับคืนด้วยเช่นกัน

และถ้าหากคุณยินดีที่จะช่วยเหลือแล้วละก็ ลุง Robert ยังได้แนะนำให้ใช้คำเหล่านี้แทนเช่น “ได้แน่นอน” แทนคำว่า “ไม่มีปัญหา” เพราะคำแรกให้ความรู้สึกระหว่างการเป็นพาร์ทเนอร์กันมากกว่า

 

4. เลียนแบบท่าทางของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้เขาชอบเรา

นักวิทยาศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า ‘ปฏิกริยากิ้งก่าเปลี่ยนสี’ เพราะลึกๆ แล้วคนเรามักจะชอบพูดคุย หรือให้ความสำคัญกับคนที่มีบุคลิกท่าทาง หรือความสนใจในเรื่องเดียวกันมากกว่า และอีกสิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือ จากการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่แล้วฝ่ายตรงข้ามมักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกเลียนแบบอยู่ แต่กลับรู้สึกไว้วางใจ และเชื่อใจมากกว่าแทน

ต่อไปถ้าต้องการจะต่อรองอะไรกับบอสที่ทำงาน หรือเพื่อนร่วมงานละก็ ลองสังเกตพฤติกรรมการนั่ง การพูด ของเขาแล้วลองทำตามดูสิ

 

 

5. พูดให้เร็วขึ้นเพื่อให้ข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายเห็นด้วยกับเรา

การสื่อสารเพื่ออธิบายไอเดียในหัวเราเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน งานวิจัยระบุว่า ถ้าหากเราพบว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับไอเดียที่เรานำเสนอ ให้พูดอธิบายให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อที่พวกเขาจะได้มีเวลาในการคิดทบทวนที่น้อยลงในขณะที่เราพูด

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากเรานำเสนอข้อโต้แย้งบางอย่างแล้วคนรอบข้างเห็นด้วย ให้เราพูดให้ช้าลงเพื่อที่คนฟังจะได้ประมวลผลไอเดียของเราได้ดียิ่งขึ้น

 

6. สร้างความสับสนเล็กน้อยให้กับฝ่ายตรงข้าม

วิธีการนี้เรียกว่า ‘Disrupt-then-Reframe’ (ทำลายกรอบเดิมแล้วสร้างกรอบใหม่) ซึ่งเป็นอีกเทคนิคที่ช่วยทำให้อีกฝ่ายคล้อยตามไปกับเราได้ง่ายขึ้น

เคยมีการทดลองวิธีนี้กับเด็กที่ขายโปสการ์ดตามบ้านต่างๆ วิธีนี้ทำให้พวกเขาขายได้มากกว่าเดิมถึง 2 เท่า โดยเดิมทีพวกเขาประกาศขายโปสการ์ด 8 ใบ ราคา $3 แต่ใช้วิธีบอกคนซื้อว่า 8 ใบ ราคา 300 เพนนี ($3 นั่นแหละ) แทน

ซึ่งนักวิจัยบอกว่าการที่มันได้ผลเพราะวิธีนี้เป็นการทำลายกรอบความคิดแบบเดิม ทำให้พวกเขาต่างมีจิตใจที่วอกแวก เพราะมัวแต่คิดว่า 300 เพนนี เท่ากับกี่ดอลล่าร์ ก่อนที่จะตกลงซื้อขายเพราะเห็นว่าราคานั้นสมเหตุสมผล

 

 

7. ขอให้พวกเขาทำในสิ่งที่เราต้องการ หลังเหนื่อยมาตลอดทั้งวัน

คนที่เหนื่อยหรือฟุ้งซ่านมีแนวโน้มที่จะยอมรับในสิ่งที่คุณต้องการได้มากกว่า สมมุติว่าเราต้องการความช่วยเหลือซักอย่างหนึ่งจากเพื่อนร่วมงาน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากพวกเขาหลังเวลาเลิกงาน เพราะเป็นช่วงเวลาที่หลายคนต่างรู้สึกเหนื่อยล้ามาแล้วทั้งวัน ซึ่งส่งผลให้สมองมีกลไกการคิดคำนึงถึงเหตุการณ์ในอนาคตน้อยกว่า

 

8. ใช้สายตาจดจ้องเพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามประพฤติตัวอย่างมีีศีลธรรม

มีการศึกษาหนึ่งพบว่า คนเรามักจะยอมจัดการให้ตัวเองดูเรียบร้อยอยู่เสมอ หลังจากที่พวกเขาโดนสายตาเพ่งมองในที่คนหมู่มาก ดังนั้นถ้าหากคุณต้องการจะส่งเสริมไม่ให้คนทิ้งขยะเรี่ยราด การทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีคนจ้องมองอยู่ เป็นอีกหนึ่งอำนาจมืดที่ไม่น่าเชื่อว่าจะส่งผลได้ดีอย่างเหลือเชื่อ

 

 

9. ใช้คำนามแทนคำกริยาในคำถาม

อีกงานวิจัยหนึ่งได้ทำการถามคำถามแบบเดียวกันในรูปแบบที่ต่างกัน โดยคำถามแรกเป็น “คุณรู้สึกอย่างไรที่จะได้ไปเลือกตั้งวันพรุ่งนี้?” กับ “คุณรู้สึกอย่างไรที่พรุ่งนี้จะได้เป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง”

ผลปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ชอบประโยคหลังมากกว่า เพราะมันทำให้พวกเขารู้สึกมีตัวตนอยู่ในกลุ่มสังคมหนึ่ง หรือความรู้สึกที่ได้เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคมนั้นๆ

 

10. ทำให้พวกเขารู้สึกแตกตื่น

มีผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าคนที่ได้สัมผัสกับความวิตกกังวล และได้รับความรู้สึกโล่งอกหลังจากนั้น พวกเขาจะมีท่าทีการตอบสนองเชิงบวกต่อคำร้องขอที่มากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ได้ยินเสียงรถตำรวจมาแต่ไกลระหว่างเดินข้ามถนน มีแนวโน้มที่จะยอมหยุดทำแบบสอบถามมากกว่าคนที่ไม่ได้ยินอะไรเลย

สาเหตุก็เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมนุษย์จะเกิดความรู้สึกระวังภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับตัวเอง ดังนั้นในสมองของพวกเขาจึงมีทรัพยากรมาคิดเรื่องคำร้องขอหลังจากนั้นน้อยกว่า

 

11. โฟกัสกับสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามจะได้รับ จากข้อเสนอของคุณ

ในระหว่างเจรจาต่อรอง ผู้เชี่ยวชาญแนะว่าเราควรเน้นย้ำถึงสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามจะได้รับ ถ้าหากเห็นด้วยกับข้อเสนอของเรา แทนที่จะบอกว่าพวกเขาต้องเสียอะไรไป

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณเป็นเซลล์ขายรถคุณควรจะเสนอปิดราคาด้วยคำพูดที่ว่า “ผมยอมยกรถคันนี้ให้คุณไปเลยแค่ 1 แสนบาท” แทนที่เราจะบอกว่า “ผมต้องการ 1 แสนบาทสำหรับรถคันนี้” เห็นไหมว่าแค่เปลี่ยนประโยค ความรู้สึกของผู้ฟังก็เปลี่ยนไปมากจริงๆ

 

 

และทั้งหมดนี้ก็เป็น 11 ทริคแบบง่ายๆ แต่เมคเซ้นส์สุดๆ ถ้าลองเอาไปใช้แล้วอย่าลืมเอาผลที่ได้มาเล่าให้กันฟังด้วยนะ

ที่มา: BusinessInsider

Comments

Leave a Reply