เปิดตำนาน 14 ภาพลวงตาแห่งโลกอินเตอร์เน็ต ที่หลอกคนให้งงมาแล้วนับไม่ถ้วน!!!

เชื่อว่าชาวเน็ตทั้งหลายคงเคยเห็นภาพลวงตา ที่มักจะมีคนนำมาแชร์บนโลกอินเตอร์เน็ตกันหลายต่อหลายภาพแล้วใช่ไหมล่ะ? บางภาพเมื่อมองแล้วก็เกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ…ทำไมมันถึงขยับได้ มันเป็นภาพ Gif รึเปล่า? แล้วทำไมมันถึงสามารถลวงตาเราได้

ซึ่งอันที่จริง #เหมียวบ็อบ ลองดูแต่ละภาพแล้วไม่ใช่ภาพ Gif ขยับดุ๊กดิ๊กแต่อย่างใด ทว่าเป็นภาพที่สร้างมาเพื่อหลอกให้ดวงตาและสมองของเราเห็นเป็นแบบนั้นมากกว่า

เอาเป็นว่าเพื่อเป็นการแก้เบื่อฆ่าเวลา เราไปชม 14 ภาพลวงตาในตำนาน ที่หลายคนคงเคยเห็นกันมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อยแหละนะ

 

Fraser’s Spiral

ถ้าเรามองที่จุดตรงกลางจะพบว่ามันสามารถขยับได้ อันที่จริงแล้วส่วนที่ลวงตาเกิดจากสีที่ทับซ้อนกันบริเวณเกลียวที่วนรอบออกมา และจุดสีม่วงทึบตรงกลางนั่นแหละ คือส่วนที่ทำให้มันลวงตาเราได้

 

The Ebbinghaus illusion

ภาพอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของวงกลมนี้ ถูกตั้งชื่อตามนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ‘Hermann Ebbinghaus’ ซึ่งเป็นภาพที่วงกลมทั้งสองวงขนาดเท่ากัน แต่ดูเหมือนมีขนาดต่างกัน

 

Impossible Cube illusion

ภาพสี่เหลี่ยมลูกบาศก์นี้ถูกสร้างขึ้นโดย ‘Charles Cochran’ เมื่อปี 1966 จากในภาพเราจะเห็นได้ว่ามีมุมอยู่ 2 มุมที่ทำให้เรารู้สึกงงงวยเหลือเกิน

 

Zöllner illusion

ภาพของเส้นคู่ขนานกันสองเส้นที่มีความเอียงต่างกัน ซึ่งทำให้มันดูเหมือนว่าเส้นหนึ่งตั้ง และอีกเส้นหนึ่งนอน รูปแบบภาพลวงตานี้ ถูกค้นพบครั้งแรกบนลายเสื้อผ้าโดยนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ‘Johann Zöllner’ ตั้งแต่ปี 1860 นู้นเลยแน่ะ!!

 

Jastrow illusion

อีกหนึ่งภาพลวงตาที่ดูเหมือนทั้งสองสิ่งจะมีขนาดไม่เท่ากัน เมื่อนำมาวางเทียบกันถึงแม้ว่าจะมีรูปทรงเหมือนกันก็ตาม ภาพนี้ถูกสร้างขึ้นโดย ‘Joseph Jastrow’ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน

 

Kanizsa’s Triangle

สามเหลี่ยมปริศนานี้ถูกตั้งชื่อตามนักจิตวิทยาชาวอิตาลี ‘Gaetano Kanizsa’ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การรับรู้ของมนุษย์ไม่เป็นความจริงอย่างที่ตาเห็นเสมอไป ซึ่งอันที่จริงแล้วสามเหลี่ยมที่อยู่ตรงกลางภาพนั้นไม่ได้มีอยู่จริง

 

Poggendorff Illusion

หนึ่งในภาพลวงตาสุดคลาสสิคโดยนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ‘Johann Poggendorff’ จากรูปซ้ายเราอาจคิดว่าเส้นสีน้ำเงินต่อกับเส้นสีดำ ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นเส้นสีแดงต่างหาก ซึ่งคำตอบของปริศนาลวงตานี้ยังไม่มีการเปิดเผย

 

Blivet

ไม่มีการระบุชี้ชัดว่าใครเป็นคนคิดค้นภาพนี้ขึ้นมา ยิ่งดูก็ยิ่งชวนให้งง เพราะภาพนี้นับว่าเป็นหนึ่งในภาพลวงตาสุดคลาสสิคอีกเช่นกัน แสดงให้เห็นตัวอย่างการสร้างภาพลวงตาขึ้นมาจากรูปทรงเลขาคณิตแบบง่ายๆ แต่ยิ่งดูแล้วยิ่งรู้สึกว่ามันไม่ง่ายเอาซะเลย

 

White’s illusion

หนึ่งในภาพลวงตาโดยเล่นกับสีที่เราเข้าใจได้ไม่ยากนัก ในฝั่ง A เราจะเห็นสีเหลี่ยมขนาดเล็กเป็นสีเทาเข้ม ส่วนในฝั่ง B แถบสีเทาจะมีความสว่างมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของสีรอบข้างยังไงล่ะที่ทำให้แถบสีทั้งสองฝั่งมีความเข้มที่แตกต่างกัน

 

Motion illusion

ถึงแม้จะไม่มีประวัติชี้ชัดว่าใครคิดค้นภาพนี้ แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่าสาเหตุที่ทำให้ภาพนี้มันขยับไปมาได้ นั่นก็เป็นเพราะการใช้สีที่มีความขัดแย้งกัน

รวมถึงรูปทรงของวงกลมในภาพโดยมีเงาเป็นสีขาวและสีดำ นี่แหละคือคีย์หลักที่ทำให้มันขยับไปมาได้อย่างอู้ววหูวว อู้ววหือ

 

Hermann Grid illusion

‘Ludimar Hermann’ คิดค้นภาพนี้ขึ้นเมื่อปี 1870 ในระหว่างที่กำลังอ่านหนังสืออยู่ จากในภาพเราจะเห็นได้ว่าตามสี่แยกต่างๆ จะมีจุดสีดำลางๆ เกิดขึ้นในภาพ แต่น่าแปลกใจถ้าหากเราเพ่งตรงไปที่บริเวณสี่แยกนั้นๆ จุดดังกล่าวจะไม่ปรากฏออกมาให้เห็น

 

Illusory Rotating Effect

ไม่มีคำอธิบายถึงที่มาที่ไปของภาพนี้ แต่เราอยากลองให้คุณจ้องไปที่จุดสีดำตรงกลางภาพ เสร็จแล้วก็ขยับหน้าเข้าออกโดยที่ตายังเพ่งไปที่จุดสีดำอยู่ จะพบว่าวงกลมที่เกิดจากสี่เหลี่ยมในภาพนั้น มันสามารถขยับไปมาได้!!

 

The Wall Cafe

ตอนแรกที่ดูภาพนี้ใครต่อใครต่างก็รู้สึกว่าเส้นบรรทัดสีเทาทุกเส้นนั้นไม่ตรง แต่ความจริงแล้วทุกเส้นกลับขนานกันอย่างเพอร์เฟค ภาพลวงตานี้ถูกค้นพบโดย ‘Richard Gregory’ จากกำแพงร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเมือง Bristol

 

Rotating Wheels illusion

มองไปที่ภาพนี้สิแล้วจะพบว่าวงกลมทุกวงมันหมุนกันไปคนละทิศคนละทาง แต่น่าแปลกใจยิ่งกว่าถ้าหากเราเพ่งไปที่วงกลมซักวงหนึ่ง มันจะหยุดหมุนทันที เออ…เป็นเพราะอะไรน้อ?

 

ดูไปดูมาตาเริ่มลาย หันกลับมาดูสิ่งของรอบตัว ทำไมอะไรๆ มันก็ขยับได้ล่ะเนี่ย!!?

ที่มา: Brightside

Comments

Leave a Reply