พบซากศีรษะหมาป่ายักษ์ในเพอร์มาฟรอสต์ที่รัสเซีย นักวิจัยคาดมีอายุมากถึง 40,000 ปี

ย้อนกลับไปช่วงฤดูร้อนเมื่อปี ค.ศ. 2018 ชายชาวรัสเซียคนหนึ่งได้ไปเดินเล่นบนชายฝั่งทะเลใกล้ๆ แม่น้ำ Tirekhtyakh ในสาธารณรัฐซาฮา เขตการปกครองที่ตั้งอยู่ทางเหนือของประเทศรัสเซีย

ที่นั่นเขาได้พบกับซากศีรษะของสุนัขหมาป่าโบราณตัวหนึ่งถูกฝังเอาไว้ในเพอร์มาฟรอสต์(พื้นดินในภาวะอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา) ในสภาพที่สมบูรณ์อย่างไม่น่าเชื่อ โดยที่หัวของเจ้าหมาป่ายังคงมีขนและเขี้ยวอยู่อย่างครบถ้วน

 

 

เขาแจ้งการค้นพบของตัวเองให้แก่ทีมนักวิทยาศาสตร์หลังจากนั้น และเมื่อเหล่านักวิจัยเข้ามาทำการตรวจสอบสิ่งที่ชายหนุ่มพบ พวกเขาก็ได้ทราบว่า หัวของสุนัขหมาป่าชิ้นนี้มีอายุมากถึง 40,000 ปี

อ้างอิงจากรายงานการวิจัย หัวของสุนัขหมาป่าชิ้นนี้เป็นของหมาป่าที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายของยุคสมัยไพลสโตซีน ช่วงเวลาที่โลกเกิดยุคน้ำแข็งขึ้นซ้ำๆ กันในอดีต และมีอายุได้ราวๆ 2-4 ปีในตอนที่ตาย

 

 

โดยส่วนศีรษะของหมาป่าที่มีการค้นพบ มีความยาวอยู่ที่ราวๆ 40 เซนติเมตร ซึ่งนับว่าค่อนข้างน่าสนใจ เพราะนี่เป็นความยาวถึงครึ่งหนึ่งของขนาดตัวหมาป่าในปัจจุบัน (ซึ่งอยู่ที่ 66-86 เซนติเมตร) เลย แสดงให้เห็นว่าหมาป่าในสมัยนั้นน่าจะมีขนาดที่ใหญ่โตเอามากๆ

น่าเสียดายที่ในปัจจุบันนักวิจัยยังไม่ได้มีการออกมาเปิดเผยแต่อย่างไรว่าทำไมสุนัขตัวนี้ถูกเหลืออยู่เพียงแค่ศีรษะอย่างที่เห็นได้ หรือแม้แต่เรื่องที่ว่าสุนัขหมาป่าตัวดังกล่าวตายไปเพราะหัวขาดจริงๆ หรือไม่

 

 

สิ่งเดียวที่เราทราบในเวลานี้คือ สุนัขหมาป่าที่พบนี้ นับว่าเป็นหนึ่งในการค้นพบซากสุนัขหมาป่าโบราณที่มีความสมบูรณ์มากๆ ชิ้นแรกๆ จากยุคไพลสโตซีนเลยก็ว่าได้ (อีกชิ้นหนึ่งคือลูกสุนัขหมาป่าอายุ 50,000 ปีที่ถูกพบในแคนาดา)

ดังนั้นการตรวจสอบสุนัขที่พบนี้ คงจะนำมาซึ่งข้อมูลที่มีค่าอีกมากมายในอนาคตเลยเป็นแน่

 

 

ที่มา livescience, siberiantimes และ ancient-origins

Comments

Leave a Reply