นักโบราณคดีพบพยาธิแส้ม้าในอุจจาระอายุ 9,000 ปีที่ซาตาลฮูยุค เชื่อเคยระบาดหนักในอดีต

เป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะทราบกันว่าสิ่งที่หลายๆ คนคิดว่าสกปรกนั้น ในบางครั้งก็อาจจะซ่อนอะไรที่มีค่าไว้มากกว่าที่เราคิดก็เป็นได้ เพราะสำหรับเหล่านักโบราณคดีแล้วของอย่างขยะหรือสิ่งปฏิกูลในสมัยก่อน มันเปรียบเหมือนกล่องสมบัติที่เก็บเอาข้อมูลชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยก่อนเอาไว้ไม่มีผิด

และแล้วเมื่อล่าสุดนี้เอง นักโบราณคดีก็ได้พบกับกล่องสมบัติที่น่าสนใจชิ้นใหม่อีกครั้ง เมื่อพวกเขานั้นได้ทำการค้นพบตัวอย่างอุจจาระของมนุษย์โบราณ ที่แหล่งโบราณคดีในหมู่บ้านซาตาลฮูยุค ของประเทศตุรกี

 

ตัวอย่างอุจจาระเก่าแก่ที่พบ

 

อุจจาระที่มีการพบในครั้งนี้ คาดกันว่ามีอายุได้มากถึง 8,000-9,000 ปีมีจุดเด่นอยู่ที่มันเต็มไปด้วยหนอนพยาธิแส้ม้า ซึ่งทำให้การค้นพบในครั้งนี้กลายเป็นการค้นพบพยาธิแส้ม้าในมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษย์เลย

อ้างอิงจากนักโบราณคดีการค้นพบในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่าการที่มนุษย์เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการล่าสัตว์และเก็บของป่าไปเป็นการทำการเกษตร (ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราวๆ 10,000 ปีก่อน) จะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนมากกว่าที่เราคิดไว้มาก

 

ไข่พยาธิแส้ม้า

 

นั่นเพราะการที่คนเราทำการเกษตรมันจะส่งผลให้คนเราเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วรวมทั้งอยู่รวมกันเป็นกระจุกมากขึ้น ดังนั้นความเสี่ยงที่จะเป็นโรคของมนุษย์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

โดยสำหรับกรณีของพยาธิแส้ม้าที่ถูกพบในครั้งนี้ นักโบราณคดีก็คาดกันว่ามันน่าจะมีการระบาดหนักกว่าแค่คนกลุ่มหนึ่งแน่ๆ เนื่องจากตัวอย่างของอุจจาระที่พวกเขาได้มาจากสถานที่ที่ต่างกันนั้น ล้วนแต่มีร่องรอยของพยาธิชนิดเดียวกันปนเปื้อนอยู่ทั้งสิ้น

 

ตัวอย่างอุจจาระในอีกสถานที่

 

เป็นไปได้ว่าคนในสมัยก่อนจะติดพยาธิเหล่านี้ในระหว่างที่กำลังขับถ่ายในสถานที่ที่ถูกกำหนดให้เป็น “ห้องน้ำ” โดยผ่านการสัมผัสกับพื้นดินหรืออุจจาระที่ปนเปื้อนพยาธิคนอื่นๆ ในชุมชนอีกที

แน่นอนว่าสำหรับคนในสมัยก่อนแล้วปัญหาอย่างพยาธิแส้ม้านั้นคงจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ได้โดยง่ายเป็นแน่ ดังนั้นพวกเขาจึงจำเป็นต้องพบกับผลข้างเคียงของพยาธิแส้ม้าอย่างอาการปวดท้อง ท้องร่วง และอ่อนเพลีย รวมทั้งความเสื่อมถอยทางสติปัญญาในเด็กไปอย่างช่วยไม่ได้

 

การตรวจสอบที่อยู่อาศัยโบราณในพื้นที่

 

และกว่าที่มนุษย์เรานั้นจะมีห้องน้ำที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดของเสียนั้น มันก็ในเมโสโปเตเมียราวๆ 400 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะสันนิษฐานว่าปัญหาพยาธิที่เกิดขึ้นกับคนในสมัยก่อนนั้น น่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังกว่าที่เราคิดมาก

อนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Antiquity เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา ดังนั้นหากเพื่อนๆ สนใจอยากทราบข้อมูลการวิจัยเพิ่มเต็ม เพื่อนๆ ก็สามารถเข้าไปอ่านงานวิจัยเต็มๆ กันได้ ที่นี่

 

ที่มา dailymail, nydaily, ancient-origins, cambridge

Comments

Leave a Reply