ทำความรู้จักกับอาการ “ผีอำ” ความผิดปกติทางการนอน ที่หลอกหลอนผู้คนมาตั้งแต่ในอดีต

เคยเป็นกันไหม ที่รู้สึกตัวขึ้นมาอย่างกะทันหันในยามค่ำคืนและพบว่าตัวเองไม่สามารถขยับหรือส่งเสียงได้ ราวกับว่ามีคนมานั่งทับและบีบคอ แถมในบางครั้งเราก็สามารถมองเห็นเงาคนแปลกๆ ในที่ที่ไม่ควรจะมีอยู่ด้วย

อาการเหล่านี้คืออาการที่มีชื่อว่า “Sleep Paralysis” หรือที่หลายๆ คนอาจจะรู้จักกันดีในฐานะอาการ “ผีอำ” ซึ่งแม้จะฟังดูเป็นอาการที่น่ากลัว แต่ก็เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เราคิด

 

 

ผีอำกับประวัติศาสตร์

เป็นเรื่องที่หลายๆ คนทราบกันว่าผีอำเป็นอาการที่อยู่คู่กับมนุษย์มาค่อนข้างยาวนาน และไม่ได้มีการพูดถึงเฉพาะในไทยเท่านั้น เพราะอาการนี้มีการกล่าวถึงในตำนานและเรื่องเล่าพื้นบ้านในแทบทุกมุมโลก โดยการเรียกที่ต่างๆ กันไปอย่าง “Old hag” และ “Mare” ของทางตะวันตก หรือ “ดาโช” ของประเทศลาว

หลักฐานทางการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดของอาการผีอำนั้น ถูกบันทึกไว้โดยแพทย์ชาวดัตช์ในปี 1664 โดยเป็นการอธิบายว่าคนไข้คนหนึ่งว่ามีอาการคล้ายโดนอินคิวบัส หรือ Mare โจมตีในยามหลับ

 

 

ตัวจริงของผีอำ

แน่นอนว่าสำหรับในปัจจุบัน Sleep Paralysis หรือผีอำนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ทางไสยศาสตร์อีกต่อไป กลับกันมันเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างการนอน ซึ่งเกิดขึ้นในขณะช่วงการหลับที่เราเรียกกันว่า “REM Sleep” (Rapid eye movement)

 

 

นั่นเพราะตามปกติในช่วงการนอนหลับนี้ สมองของเราจะมีการยับยั้งการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วยเหตุผลบางอย่าง (คาดกันว่าเพื่อป้องกันการขยับตัวตามความฝัน) และจะหยุดไปในช่วงที่เรากำลังจะตื่น

ปัญหาคือในบางครั้ง คนเราจะได้สติเร็วกว่าที่การทำงานของร่างกายจะกลับมา ทำให้ร่างกายที่ยังอยู่ในสภาพหลับไม่สามารถขยับไม่ได้ แม้ว่าเราจะได้สติแล้วก็ตาม ซึ่งอาการเหล่านี้เองในบางครั้งก็จะนำไปสู่การมองเห็นภาพหลอนได้ด้วย

 

 

ความเสี่ยงและการหลีกเลี่ยงอาการผีอำ

อ้างอิงจากข้อมูลงานวิจัยในปี 2011 มีประชากรบนโลกมากถึงราวๆ 7.6% ที่เคยพบกันอาการผีอำมาสักครั้งในชีวิต และมักพบได้ในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มนักเรียน และกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งมักมีจุดร่วมเดียวกันอยู่ที่การนอนหลับที่ไม่ดี หรือไม่เพียงพอ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือโรคตื่นตระหนก

น่าเสียดายที่ในปัจจุบันเราจะยังไม่มีวิธีการป้องกันผีอำที่ได้ผลแบบ 100% อย่างไรก็ตามเราสามารถลดความเสี่ยงที่จะมีอาการได้ด้วยการนอนหลับให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และนิโคติน เป็นเวลาอย่างต่ำ 3 ชั่วโมงก่อนนอน ทำตัวให้ผ่อนคลาย และควรลดปริมาณคาเฟอีนที่ร่างกายได้รับหลังจากช่วงเวลา 2 p.m. ลง

 

 

ที่มา livescience, ncbi และ sciencedirect

Comments

Leave a Reply