นักวิจัยพบ ราชวงศ์ชางแห่งประเทศจีนอาจเคยใช้ “ลูกสุนัข” ในการบูชายัญแทนที่มนุษย์

เป็นเรื่องที่หลายๆ คนทราบกันดีว่า ในอดีตมนุษย์เรานั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็แทบจะต้องเคยไปเกี่ยวข้องกับการบูชายัญ ไม่ว่าจะเป็นการบูชายัญมนุษย์หรือการบูชายัญสัตว์

ดังนั้นจึงไม่นับว่าเป็นเรื่องแปลกเท่าไหร่ที่เหล่านักวิจัยของจีนจะออกมาประกาศว่าราชวงศ์ชางซึ่งปกครองประเทศจีนในช่วง 1766-1046 ปีก่อนคริสตกาลนั้น มีการใช้คนและสัตว์จำนวนมากในพิธีการบูชายัญมาตั้งแต่โบราณ

 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจของข้อมูลการบูชายัญที่ถูกพบในครั้งนี้ กลับไม่ใช่การบูชายัญของมนุษย์อย่างที่เราคิด แต่เป็นการบูชายัญ “ลูกสุนัข” ต่างหาก

นี่เป็นความจริงสุดแปลกที่ถูกพบโดยนักโบราณคดีชื่อ Roderick Campbell และ Zhipeng Li ผู้ซึ่งทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการบูชายัญของราชวงศ์ชางจากแหล่งโบราณคดีหลากหลายที่ และพบว่าในเวลานั้น สุนัขมักจะถูกฝังอยู่ในสุสานเป็นจำนวนมากอย่างผิดปกติ

แถมสุนัขที่พบกว่า 73% ยังถูกฝังตั้งแต่อายุไม่ถึงปีเลยด้วย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคาดว่าสุนัขเหล่านี้ น่าจะเป็นเหยื่อของการบูชายัญ มากกว่าที่จะถูกฝังไปพร้อมๆ กับเจ้านายอย่างที่นักโบราณคดีเคยคิด

 

 

เท่านั้นยังไม่พอเพราะลักษณะของลูกสุนัขที่ทั้งสองพบเอง ยังทำให้พวกเขาตั้งข้อสังเกตอีกว่า สุนัขเหล่านี้นั้นน่าจะถูกเลี้ยงขึ้นมาเพื่อเป็นเหยื่อบูชายัญโดยเฉพาะเลยด้วย ซึ่งสร้างคำถามให้นักโบราณคดีได้เป็นอย่างดีว่า “ทำไมคนในสมัยก่อนจึงเลือกที่จะบูชายัญลูกสุนัขตัวน้อยน่ารักกัน”

สำหรับคำถามนี้ เหล่านักโบราณคดีเชื่อกันการบูชายัญสุนัขเหล่านี้ น่าจะเกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวแทนการบูชายัญมนุษย์ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีทรัพย์สินมากพอที่จะซื้อทาส หรือนักโทษสงครามที่เป็นมนุษย์มาบูชายัญ มีโอกาสได้ทำพิธีกรรมในราคาที่ถูกกว่านั่นเอง

 

 

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง คุณ Campbell ก็เชื่อว่าการศึกษาลูกสุนัขผู้โชคร้ายเหล่านี้ อาจจะนำไปสู่วิธีชีวิตของคนโบราณชนชั้นอื่น ที่นอกเหนือจากจักรพรรดิและเหล่าขุนนางชั้นสูงต่อไปเลยก็เป็นได้

โดยคุณ Campbell ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการค้นพบในครั้งนี้ว่า “ในการศึกเกี่ยวกับจีนสมัยราชวงศ์ชางนั้น ตลอด 100 ปีที่ผ่านมาพวกเรามัวแต่มุ่งเน้นไปที่พระราชวังและจักรพรรดิ ซึ่งสำหรับผมแล้วมันทำให้เรามีมุมมองที่บิดเบี้ยวต่อสังคมจริงๆ ไป” 

 

ที่มา allthatsinteresting และ livescience

Comments

Leave a Reply