ย้อนรอย “ฮาเร็ม” สถานที่มีชื่อแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ที่ไม่ได้มีไว้แค่ปรนนิบัติสุลต่าน

เชื่อว่าสำหรับหลายๆ คน ในปัจจุบัน คำว่า “ฮาเร็ม” นั้นคงจะหมายถึงแนวการ์ตูนญี่ปุ่น ที่มีตัวเอกหญิงหลายคน แต่มีตัวเอกชายแค่คนเดียว

อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์ของฮาเร็มในอดีตนั้นมีความหมายต่างจากในปัจจุบันมากอยู่ เพราะในสมัยนั้นการที่ผู้ชายคนหนึ่งจะมีฮาเร็มเป็นของตัวเองนั้น มันมีความหมายมากกว่าการเป็นที่รักของผู้หญิงหลายๆ คน

 

 

คำว่า “ฮาเร็ม” เป็นภาษาตุรกีที่มาจากคำว่า “ฮาราม” ในภาษาอาหรับแบบว่า สถานที่ต้องห้ามหรือสถานที่ปลอดภัย และมักใช้สื่อถึงสถานที่ที่จัดขึ้นเพื่อสตรีโดยเฉพาะ และมีเพียงผู้เป็นสามีของพวกเธอเท่านั้นที่จะเข้ามาในที่แห่งนี้ได้

เรื่องราวของฮาเร็มมีบันทึกไว้ตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ. 1299 แต่มีช่วงเวลาที่โด่งดังที่สุดอยู่ที่ฮาเร็มของสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันในช่วงศตวรรษที่ 16-17 และเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจในสมัยนั้น โดยที่ยิ่งสุลต่านมีอำนาจมากเท่าไหร่ เขาก็จะถูกคาดหวังให้มีฮาเร็มใหญ่ตามไปเท่านั้น

โดยมากแล้วฮาเร็มจะถูกดูแลโดย “วาลีเดซุลตัน” หญิงสาวผู้ที่มักจะเป็นมารดาของสุลต่านที่เป็นเจ้าของฮาเร็ม และจะมีการแบ่งอันดับของผู้หญิงในฮาเร็มอย่างชัดเจน โดยมี Gözde (ที่ชื่นชอบ) Ikbal (ผู้โชคดี) และ Kadın (ผู้หญิง/ภรรยา) เป็นตำแหน่งที่นับว่าสูงที่สุด

 

Gülnuş Sultan หนึ่งในวาลีเดซุลตันผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1695-1715

 

แน่นอนว่าการที่มีผู้หญิงอยู่ในฮาเร็มเป็นจำนวนมากย่อมหมายความว่าไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะมีสิทธิ์ได้หลับนอนกับสุลต่าน และผู้หญิงเหล่านั้นเองก็มีโอกาสที่จะถูกส่งไปแต่งงานกับชายคนอื่นๆ ได้ หากพวกเขาทำผลงานได้ดี

เนื่องจากผู้หญิงในฮาเร็มโดยมากแล้วจะไม่สามารถรับตำแหน่งทางการเมืองได้ด้วยการมีลูกกับสุลต่าน ดังนั้นในหลายๆ ครั้งหญิงสาวเหล่านี้จึงมักจะได้รับความเชื่อใจจากตัวสุลต่านเองมากกว่าภรรยาจริงๆ เสียอีก (เพราะพวกเธอมักไม่ดันลูกชายให้ชิงอำนาจสุลต่าน)

 

 

ถึงอย่างนั้นก็ตาม การเป็นผู้หญิงในฮาเร็มก็ใช่ว่าจะไม่ทำให้พวกเธอมีอำนาจเลย เพราะหากโชคดีการเป็นคนโปรดของสุลต่านก็อาจจะทำให้พวกเธอมีอาคารและคนใช้ส่วนตัวได้เลย

จริงอยู่ว่าเมื่อพูดถึงฮาเร็มในรูปแบบนี้หลายๆ คนก็อาจจะคิดว่าที่แห่งนี้คงจะไม่มีผู้ชายอื่นๆ นอกจากสุลต่านอยู่เลย แต่ในความเป็นจริงแล้วในฮาเร็มนั้นมีผู้ชายอยู่มากกว่าที่เราคิด

โดยคนเหล่านี้คือ “ยูนุก” ตำแหน่งที่คล้ายกับขันทีในประเทศจีน ต่างกันที่เพียงแค่คนเหล่านี้มักจะเป็นทาสที่มาจากการซื้อขายหรือสงคราม และไม่มีอำนาจใดๆ เลยก็เท่านั้น

 

 

เรื่องราวเกี่ยวกับ ฮาเร็มเริ่มกลายเป็นที่รู้จักของโลกตะวันตกในปี 1861 หลังจากที่ช่างภาพชาวฝรั่งเศส Henriette Browne (ซึ่งเป็นผู้หญิง) ได้วาดภาพภายในฮาเร็มขึ้นและกลายเป็นที่โด่งดัง จนทำให้ฮาเร็มกลายเป็นเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวตะวันตกอยากไปเหยียบให้ได้สักครั้ง จนกระทั่งจักรวรรดิออตโตมันล่มสลายไปในปี 1920 นั่นเอง

 

ที่มา ancient-origins, dailysabah และ allaboutturkey

Comments

Leave a Reply