ชม “อักษรโรโงโรโง” อักขระลึกลับแห่งเกาะอีสเตอร์ ที่คาดว่าเก็บประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยรู้ไว้

เมื่อพูดถึงเกาะราปานูอี หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “เกาะอีสเตอร์” เชื่อว่าไม่ว่าใครก็คงจะคิดถึงตำนานหินหน้าคนอย่าง “โมอาย” ขึ้นมาก่อนเป็นอย่างแรก เพราะนอกจากนี่จะเป็นมรดกโลกล้ำค่าแล้ว โมอายยังเป็นวัตถุโบราณที่ผู้เชี่ยวชาญถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่าทำขึ้นมาเพื่ออะไรด้วย

ว่าแต่รู้หรือไม่ว่านอกจากตัวโมอายเองแล้ว บนเกาะแห่งนี้เองก็ยังมีวัตถุโบราณปริศนาที่ยังไขไม่ออกอยู่อีกอย่างหนึ่งด้วย โดยมันเป็นจารึกอักษรโบราณที่มีรูปร่างสุดประหลาด และยังไม่มีใครถอดรหัสได้นั่นเอง

 

 

นี่คืออักขระที่ชื่อว่า “อักษรโรโงโรโง” อักษรที่มีรูปร่างคล้ายสัตว์ หรือไม่ก็อักษรฮีโรกราฟฟิกของอียิปต์ ซึ่งมักถูกสลักไว้บนแผ่นไม้ และเชื่อกันว่ามีอยู่รวมๆ แล้วมากกว่าหมื่นตัว

อักษรโรโงโรโงถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1864 โดย Eugène Eyraud ผู้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาบนเกาะ โดยในเวลานั้นเข้าได้พบกับแผ่นไม้ที่มีอักษรประหลาดเช่นนี้ถึง 26 อัน

 

 

คำว่า “โรโงโรโง” มาจากภาษาราปานูอีอันเป็นภาษาดังเดิมของเกาะอีสเตอร์ แปลว่า “การร่ายมนตร์” หรือ “การสวด” ซึ่งก็ไม่แปลกเท่าไหร่เพราะสภาพอักขระโรโงโรโงที่เราเห็นบ่อยๆ นั้นมักจะถูกเขียนอัดกันเต็มแผ่นไม้ไปหมดจนทำให้มันดูขลังและลึกลับคล้ายบทร่ายคาถามากๆ

น่าเสียดายที่นอกจากชื่อแล้ว เราแทบจะไม่ทราบเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับแผ่นไม้นี้เลย ทั้งวิธีอ่าน ที่มา หรือแม้แต่ใครกันที่เป็นคนคิด

 

 

ทฤษฎีที่น่าสนใจเกี่ยวกับแผ่นไม้นี้คือ มันถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยประชาชนบนเกาะอีสเตอร์หลังจากเห็นการเขียนของชาวสเปน เมื่อปี 1770 ก่อนที่จะใช้อยู่ช่วงหนึ่งโดยเป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเกาะเป็นหลัก อย่างไรก็ตามอักษรที่ออกมานั้นใช้ยากเกินไปคนบนเกาะจึงเปลี่ยนไปใช้อักษรละตินแทน

ดังนั้นเหล่านักโบราณคดีจึงคาดกันว่าหากเราถอดรหัสคำที่อยู่บนแผ่นไม้เหล่านี้ได้ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นประวัติศาสตร์โบราณของเกาะอีสเตอร์ที่เราไม่เคยทราบกันมาก่อนเลยก็ได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอักษรเหล่านี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในปริศนาของโลกที่ยังไม่มีใครออกมาไขให้กระจ่างอยู่ดี

 

 

ที่มา ancient-origins, omniglot

Comments

Leave a Reply