นักโบราณคดีเผยไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ตัวเท่าจิงโจ้แคระ หลังพบฟอสซิลในออสเตรเลีย

เมื่อพูดถึงสัตว์อย่างไดโนเสาร์ เชื่อว่าภาพในหัวของหลายๆ คนก็คงจะเป็นสัตว์ที่มีขนาดตัวใหญ่โตน่าเกรงขาม อย่างไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ ขึ้นมาเป็นอย่างแรก

แต่เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงทราบกันดีว่าไดโนเสาร์นั้นมีหลายขนาด และบนโลกนี้เองก็มีไดโนเสาร์ขนาดเล็กอยู่เช่นเดียวกัน

และแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้เอง เหล่านักโบราณคดีก็ได้รายงานการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่อีกครั้ง โดยในครั้งนี้เจ้าไดโนเสาร์ดังกล่าวมีขนาดตัวใกล้เคียงกับ จิงโจ้แคระ (Wallaby) เท่านั้น

 

 

โดยเจ้าไดโนเสาร์ขนาดเท่าเล็กเหล่านี้ ถูกพบในประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติเป็นจิงโจ้อย่างออสเตรเลียแบบพอดิบพอดี ในระหว่างการขุดค้นหินอายุ 125 ล้านปีที่รัฐวิกตอเรีย และเป็นชิ้นส่วนขากรรไกรจำนวนห้าชิ้น

พวกมันได้รับชื่อว่า “Galleonosaurus dorisae” และคาดว่าเป็นไดโนเสาร์เดินสองขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระหว่างออสเตรเลียกับแอนตาร์กติกา ในช่วงยุคครีเทเชียส

 

 

Matthew Herne แห่งมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ หนึ่งในผู้นำการจัดทำรายงานบอกว่า ไดโนเสาร์ที่พบนั้นเป็นไดโนเสาร์กินพืช ซึ่งอยู่ในตระกูลไดโนเสาร์ปากเป็ด หรือ “Ornithopods” และมีสุดเด่นอยู่ที่กำลังขากับความว่องไวในการวิ่ง

 

 

จากข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์พบ ไดโนเสาร์เหล่านี้น่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับ ไดโนเสาร์ปากเป็ดที่พบในปาตาโกเนีย ภูมิภาคที่ตั้งอยู่ปลายใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ครอบคลุมพื้นที่ในประเทศอาร์เจนตินาและชิลี เนื่องจากในสมัยก่อนพื้นที่เหล่านี้เคยอยู่ใกล้กันในฐานะผืนแผ่นดินกอนด์วานานั่นเอง

 

 

อันที่จริงแล้วฟอสซิลของ Galleonosaurus dorisae ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยทีมอาสาสมัครจากโครงการ “Dinosaur Dreaming” อย่างไรก็ตามกว่าฟอสซิลเหล่านี้เพิ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์มันก็เมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น

 

ที่มา livescience, abc และ bbc

Comments

Leave a Reply