นักโบราณคดีพบ สัญลักษณ์รูป “อวัยวะเพศชาย” ในเหมืองหินโบราณอายุกว่า 1,800 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 1980 ในบริเวณใกล้ๆ แหล่งโบราณคดี “กำแพงฮาดริอานุส” กำแพงโรมันโบราณในเขตเมือง Brampton ประเทศอังกฤษ เหล่านักโบราณคดีได้ทำการค้นพบ เหมืองหินโบราณที่เชื่อกันว่าเคยมีการขุดไปซ่อมกำแพง และมีการจารึกข้อความโบราณจำนวนมากเอาไว้

นี่คือแหล่งโบราณคดีที่มีชื่อว่า “Written Rock of Gelt” กลุ่มข้อความและสัญลักษณ์ราวๆ 9 แบบ ที่คาดกันว่าเขียนโดยผู้นำคนงานเหมืองหินในสมัยโรมันโบราณ ตั้งแต่เมื่อช่วงปี ค.ศ. 207 และที่ผ่านๆ มา เราแทบจะไม่สามารถบอกได้เลยว่าข้อความเล่านี้เขียนว่าอะไรหรือต้องการสื่ออะไรกันแน่

 

 

แต่แล้วเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เหล่านักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล และหน่วยงานประวัติศาสตร์อังกฤษของรัฐบาล ก็ได้ร่วมกันตรวจสอบ ฟื้นฟู และถอดรหัสสัญลักษณ์ที่ Written Rock of Gelt อีกครั้ง และได้พบกับเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายเลย

นั่นเพราะในบรรดาสัญลักษณ์ที่พวกเขาพบอยู่ที่กำแพงหินนี้จากการวิเคราะห์ภาพด้วยระบบสามมิตินั้น ยังมีสัญลักษณ์ที่คล้ายกับภาพอวัยวะเพศชายวาดเอาไว้ด้วย

 

 

นี่อาจจะดูเป็นเรื่องน่าแปลกก็จริงอยู่แต่จากคำบอกเหล่าของทีมนักโบราณคดี ดูเหมือนว่าสัญลักษณ์รูปอวัยวะเพศชายหรือ “The Phallus” นั้นในสมัยก่อนจะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์นำโชคของชาวโรมัน ละเคยมีการพบมาแล้วในโบราณสถานโรมันอื่นๆ

แต่แม้ว่า The Phallus จะเป็นสัญลักษณ์ที่ดูแปลกตาสำหรับคนในปัจจุบันก็ตามแต่มันก็ไม่ใช่สัญลักษณ์เพียงอย่างเดียวที่มีการพบในการศึกษาครั้งนี้

เพราะนอกจากสัญลักษณ์รูปอวัยวะเพศชายแล้ว นักโบราณคดียังพบว่าหนึ่งในสัญลักษณ์บนกำแพงนั้นแท้จริงแล้วเป็นข้อความที่ว่า “APRO ET MAXIMO CONSVLIBVS OFICINA MERCATI” ซึ่งแปลคร่าวๆ ว่า “ในความดูแลของสถานกงสุลแห่ง Aper และ Maximus”

 

 

นี่อาจจะเป็นการสื่อว่าการซ่อมแซมกำแพงฮาดริอานุสที่อยู่ใกล้ๆ เกิดจากการทำงานของสถานกงสุลที่กล่าวมา และใช้หินจากเหมืองนี้ก็เป็นได้

นอกจากนี้นักโบราณคดียังพบว่า หนึ่งในสัญลักษณ์ที่ไม่สามารถถอดรหัสได้ในสมัยก่อน แท้จริงแล้วยังเป็นภาพของผู้ชายคนหนึ่งอีกด้วย ซึ่งแม้ไม่อาจฟันธงได้ว่าเป็นใครหรือวาดมาเพื่ออะไร แต่นักโบราณคดีก็คาดกันว่าน่าจะเป็นภาพของผู้บังคับบัญชาเหมืองหินแห่งนี้นั่นเอง

 

 

โดยรวมแล้วนักโบราณคดีสามารถถอดรหัสของสัญลักษณ์ที่พบได้ราวๆ 6 ชิ้น และพวกเขาก็เชื่อว่าเราจะสามารถถอดรหัสสัญลักษณ์ที่เหลืออยู่ และหาสัญลักษณ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมได้ ในอนาคตอันใกล้นี้

 

ที่มา allthatsinterestingmilitarytimes และ bbc

Comments

Leave a Reply