งานวิจัยใหม่บอกปรากฏการณ์ “ภาพมองตามผู้ชม” มีอยู่จริง แต่ไม่ใช่กับ “ภาพโมนาลิซา”

เวลาชมภาพที่มีชื่อเสียง เคยรู้สึกไหมว่าดวงตาของคนในภาพมองตามเราไปทุกที่? นี่คือปรากฏการณ์ที่เหล่าคนที่คลุกคลีอยู่กับวงการภาพวาดรู้จักกันเป็นอย่างดี และตั้งชื่อให้มันว่า “Mona Lisa Effect”

 

 

โดยจากการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ปรากฏการณ์ Mona Lisa Effect มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ดวงตาของคนในภาพทำมุม 0-5 องศา ซึ่งจะเป็นมุมที่ทำให้คนที่มองภาพเกิดการเข้าใจผิดไปเองว่าตัวเองถูกภาพ “มองตาม” อยู่ตลอดเวลา

แน่นอนว่า Mona Lisa Effect เป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับชื่อมาจากภาพวาดของ “เลโอนาร์โด ดา วินชี” เมื่อปี ค.ศ. 1503 อย่าง “ลาโจกอนดา” หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “โมนาลิซา”

 

 

แต่เชื่อหรือไม่ว่าภาพของโมนาลิซาที่ถูกนำชื่อมาตั้งเป็นชื่อปรากฏการณ์ กลับไม่ได้มีความสามารถในการทำให้เกิด Mona Lisa Effect แต่อย่างใด

ความขัดแย้งกันเองอย่างไม่น่าเชื่อนี้เกิดขึ้นเมื่อนักจิตวิทยา Gernot Horstmann ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ Mona Lisa Effect แล้วสังเกตว่าหากมองภาพของโมนาลิซาดีๆ เขาจะรู้สึกตัวว่าเธอนั้นไม่ได้มองมาที่เขาโดยตรง แต่มองไปที่ทางขวาของเขาเล็กน้อยต่างหาก

 

 

เมื่อรู้สึกตัวเช่นนี้ Horstmann จึงได้นำภาพโมนาลิซาไปให้อาสาสมัครอีก 24 คนดูทันที โดยมีการใช้ไม้บรรทัดสองอันในการคำนวนมุมมองจริงๆ ของโมนาลิซา

ผลที่ออกมาค่อนข้างน่าสนใจมาก เพราะหากเรายืนอยู่ข้างหน้าภาพโมนาลิซา ดวงตาของเธอจะทำมุม 15 องศาไปทางด้านขวาของเรา ซึ่งมากเกินว่าองศาที่จะทำให้เกิด Mona Lisa Effect

 

 

แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมในอดีตจึงมีคนจำนวนมากรู้สึกว่าตัวของโดนโมนาลิซามองอยู่

สำหรับเรื่องนี้ Horstmann ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่าดวงตาของโมนาลิซา น่าจะมองไปที่หูของผู้ชมมากกว่าที่จะเป็นดวงตา ซึ่งผู้ชมอาจจะเข้าใจผิดไปเอง อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้มั่นใจในข้อสันนิษฐานนี้นัก

และแม้ว่าภาพโมนาลิซาอาจจะไม่ได้มี Mona Lisa Effect อยู่จริงๆ ก็ตามแต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าดวงตาของเธอนั้นมีเสน่ห์ลึกลับน่าค้นหาอยู่จริงๆ

 

ที่มา livescience และ dailymail

Comments

Leave a Reply