นักวิทย์งง หลังพบตัวอ่อนฉลาม ว่ายไปกินไข่ที่ยังไม่ผสมในมดลูกอีกข้างของมารดาได้

ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่าฉลามเป็นสัตว์ที่มีระบบการขยายพันธุ์ที่แปลก เนื่องจากฉลามบางชนิดออกลูกเป็นไข่ ในขณะที่บางชนิดออกลูกเป็นตัว แถมฉลามหลายๆ สายพันธุ์ยังมีมดลูกถึงสองอันอีกด้วย

นั่นทำให้บางครั้งเมื่อต้องดูแลครรภ์ให้กับฉลาม เจ้าหน้าที่ก็อาจจะพบกับเรื่องแปลกๆ ที่ไม่น่าเชื่อ และไม่มีทางเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้เลยเหมือนกัน

 

 

อย่างในช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยีอัลตราซาวด์ใต้น้ำรุ่นใหม่ล่าสุดในการสำรวจครรภ์ฉลามพยาบาลสีน้ำตาล (Tawny nurse shark) พวกเขาก็พบว่า

ตัวอ่อนฉลามในครรภ์มีการว่ายน้ำจากมดลูกข้างหนึ่งของมารดา ไปยังมดลูกอีกข้างหนึ่งอย่างน่าประหลาด

 

 

พฤติกรรมที่สุดแสนจะประหลาดของตัวอ่อนฉลามนี้ แม้ว่าจะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไรก็ตาม แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อกันว่าน่าจะเกิดขึ้นจากการที่ลูกฉลามพยายามไปกินไข่ของพี่น้องที่ยังไม่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อที่มดลูกอีกข้างหนึ่ง

เป็นไปได้ว่าเพราะฉลามสายพันธุ์นี้มีมดลูกสองข้าง พวกมันจึงสามารถปฏิสนธิอีกครั้งได้ แม้จะมีลูกในครรภ์อยู่แล้ว

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มารดามีลูกมากกว่าหนึ่งตัว และเพิ่มโอกาสรอดของตัวเองให้มากขึ้น ลูกฉลามจึงพยายามลดโอกาสการปฏิสนธิอีกครั้งด้วยการลดจำนวนไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสมในมดลูกลง

 

 

เอาเข้าจริงๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรายงานว่าลูกฉลามว่ายน้ำข้ามไปยังมดลูกอีกข้าง เพราะในปี 1993 เองก็เคยมีบันทึกของช่อง Discovery ที่บอกว่าพบลูกฉลามว่ายน้ำข้ามไปยังมดลูกอีกข้างมาแล้ว

เพียงแต่ว่าในเวลานั้นการค้นพบนี้ทำโดยการเจาะรูส่องกล้องทำให้ หลักฐานที่ว่าไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรเนื่องจาก “ไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างการสังเกตการณ์ตามธรรมชาติ” และมีความเป็นไปได้ที่ลูกฉลามจะเพียงแค่ว่ายหนีกล้องเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการว่ายน้ำข้ามมดลูกนั้นไม่ใช่ความแปลกเพียงอย่างเดียวของฉลามชนิดนี้ เพราะจากข้อมูลที่เคยมีการบันทึกไว้ ดูเหมือนว่าตัวอ่อนของฉลามยังสามารถโผล่หัวออกไปดูโลกภายนอกได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องคลอดออกจากครรภ์มารดาด้วย

 

 

ที่มา livescience


Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply